
เคยเจอปัญหาแบบรถสีส้มมั้ย บนถนนสี่เลนสวนกันไม่มีเกาะกลาง เลนซ้ายมักมีรถจอด เลนขวาบางทีก็มีรถรอเลี้ยวขวา
แทนที่รถสีส้มจะวิ่งตรง ๆ สบาย ๆ กลับต้องวิ่งซิกแซกหลบซ้ายขวา
จักรยานที่ขี่ชิดซ้ายของถนนก็ไม่ปลอดภัย เพราะต้องคอยออกขวาเวลาเจอรถจอด
ปัญหานี้ไม่ได้เจอแค่ในประเทศไทยที่เดียว ที่อื่น ๆ ก็เป็นเหมือนกัน
วิดีโอด้านล่างเป็นตัวอย่างจากอเมริกา (ขับรถทางด้านขวา) มาดูกันว่าเค้าเปลี่ยนถนนจากสี่เลนให้เหลือสามเลน แถมได้ที่ทำเลนจักรยานสองข้างถนนอีกด้วย
จะเห็นความพิเศษของเลนตรงกลางว่าเป็นเลนสำหรับรถรอเลี้ยวโดยเฉพาะ (two-way left-turn lane; TWLTL) รถจากฝั่งไหนก็มารอเลี้ยวตรงนี้ได้ แต่มีไว้ให้รอเลี้ยวอย่างเดียวไม่ได้ให้เอาไว้วิ่งหรือไว้เพื่อแซง
เพื่อให้เข้าใจง่ายมาดูรูปวาดด้านล่างที่ปรับให้เป็นถนนขับรถทางซ้ายแบบประเทศไทย
ในรูปรถสีส้มสามารถวิ่งตรงได้โดยไม่ต้องหลบรถจอดและรถรอเลี้ยวขวา(รถสีน้ำตาล) แถมยังมีเลนจักรยานเพิ่มขึ้นทั้งสองฝั่งอีกด้วย และมีเลนจอดรถโดยเฉพาะไปเลย (รถสีน้ำเงิน)
ข้อดี
ปลอดภัยขึ้นทั้งรถ, คนและจักรยาน
- รถเลี้ยวขวาง่ายขึ้นเนื่องจากตัดกระแสรถฝั่งตรงข้ามแค่เลนเดียว(จากเดิมสองเลน) จำนวนรถชนลดลง
- มีเลนจักรยานโดยไม่ต้องขยายถนน
- คนข้ามถนนปลอดภัยขึ้นเนื่องจากระยะทางที่ต้องอยู่บนถนนลดลง
- รถรอเลี้ยวไม่จอดบังรถตรงไป
รวดเร็ว
- รถตรงสามารถเคลื่อนที่ผ่านถนนเส้นนี้ได้เร็วขึ้น
- เปลี่ยนได้ง่ายแค่ทาสีหรือทำสัญลักษณ์บนถนนใหม่
เลนลดลงแล้วรถติดขึ้นมั้ย?
ผลการศึกษาเปรียบเทียบมักแสดงให้เห็นว่าความจุถนนเปลี่ยนไปไม่มาก อย่างไรก็ดี การจัดการถนนแบบนี้ไม่ได้ใช้ได้กับทุกถนน ข้อจำกัดเช่น
- ไม่เหมาะกับถนนที่มีปริมาณรถยนต์มากกว่า 17,500 คันต่อวัน (แบบสามเลนมีเลนเลี้ยวสวนทางตรงกลาง)
- ถนนที่มีปริมาณการจราจรสูงกว่า 20,000 คันต่อวัน แนะนำให้ทำเกาะกลางกั้น
- เลนเลี้ยวสวนทางตรงกลาง อาจถูกใช้ผิด ๆ เป็นเลนแซงในถนนที่ยาว
- ไม่เหมาะกับถนนที่จำกัดความเร็วสูงกว่า 70 km/h (45 mph)
- อาจไม่เหมาะกับถนนที่มีป้ายรถเมล์มาก
อ้างอิง
Road Diet Informational Guide
Leave a Reply