ผังเมืองจัณฑีครห์ (Chandigarh)

เกี่ยวกับเมืองจัณฑีครห์

จัณฑีครห์ (Chandigarh) เป็นเมืองหลวงของสองรัฐคือรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณาในประเทศอินเดีย ตั้งอยู่ระหว่างเชิงเขาของเทือกเขาหิมาลัยและที่ราบลุ่มแม่น้ำคงคาตอนเหนือของอินเดีย ห่างจากกรุงนิวเดลีไปทางเหนือประมาณ 250 กิโลเมตร ทิศเหนือ ทิศตะวันตกและทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับรัฐปัญจาบ และมีอาณาเขตติดต่อกับรัฐหรยาณาทางทิศตะวันออก มีเนื้อที่ 114 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นลำดับที่ 34 ของประเทศอินเดีย มีประชากรตามสัมมะโนประชากรปี ค.ศ. 2011 จำนวน 1,054,686 คน ความหนาแน่นประชาอยู่ที่ 9,252 คนต่อตารางกิโลเมตร

เมืองจัณฑีครห์อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 350 เมตร มีลักษณะค่อนข้างเป็นที่ราบ สภาพภูมิอากาศเป็นแบบอบอุ่นชื้น อุณหภูมิอยู่ระหว่าง -1 องศาเซลเซียสถึง 46 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปี 1110.7 มิลลิเมตร

chandigarh-india
ภาพที่ 1 ตำแหน่งเมืองจัณฑีครห์ในอินเดีย

ประวัติการวางผังเมืองจัณฑีครห์

หลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1947 นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ชวาหระลาล เนรูห์ (Jawahar Lal Nehru) ตั้งใจจะสร้างเมืองจัณฑีครห์ให้เป็นเมืองหลวงของรัฐปัญจาบและเป็นศูนย์กลางการบริหารแผ่นดินของตอนเหนือ รัฐบาลอินเดียได้ติดต่อให้ทีมสถาปนิกชาวอเมริกัน อัลเบิร์ต เมเยอร์ (Albert Mayer) และแมทธิว โนวิคกิ (Matthew Nowicki) มาออกแบบเมืองจัณฑีครห์ในปี 1949 แต่ได้หยุดงานลงหลังจากโนวิคกีเสียชีวิตในปี 1950 รัฐบาลจึงได้ติดต่อเลอ คอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier) ให้มาออกแบบเมืองจัณฑีครห์ต่อ

การวางผังเมืองจัณฑีครห์ของเลอ คอร์บูซิเยร์ (Le Corbusier’s Master Plan)

การวางผังเมืองจัณฑีครห์ได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดสมัยใหม่ (Modernism) รวมทั้งอุทยานนคร (Garden city) ยุคหลังที่ไม่นิยมอาคารทางตั้งและตึกสูง เลอ คอร์บูซิเยร์ออกแบบเมืองโดยแบ่งตามการใช้งานพื้นที่ในเมืองเป็น 4 รูปแบบตามแนวคิดของ CIAM (Congres Internationaux d’ Architecture Moderne หรือ International Congress of Modern Architecture)  ได้แก่

  • การอยู่อาศัย ได้แก่พื้นที่สำหรับพักอาศัย
  • การทำงาน ได้แก่ The Capital Complex ส่วนใจกลางเมือง ส่วนการศึกษา และส่วนอุตสาหกรรม
  • การดูแลร่างกายและจิตใจ ได้แก่ Leisure Valley สวน พื้นที่สีเขียวและพื้นที่โล่ง
  • การเดินทาง ได้แก่ โครงข่ายถนนรูปแบบกริดซึ่งประกอบไปด้วยถนน 7 แบบ

นอกจากนี้เลอ คอร์บูซิเยร์ยังเปรียบเมืองกับร่างกายมนุษย์ มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็นเซคเตอร์ (sector) ต่าง ๆ ดังนี้

  • ศีรษะ ได้แก่ The Capitol Complex ในเซคเตอร์ 1
  • หัวใจ ได้แก่ The City Centre ในเซคเตอร์ 17
  • ปอด ได้แก่ Leisure Valley พื้นที่โล่งและพื้นที่สีเขียว
  • สมอง ได้แก่ สถาบันทางวัฒนธรรมและการศึกษาต่าง ๆ
  • ระบบไหลเวียนโลหิต ได้แก่ โครงข่ายถนนซึ่งประกอบไปด้วยถนน 7 แบบ (7Vs)
  • อวัยวะภายใจ ได้แก่ ส่วนอุตสาหกรรม

มีการวางผังเมืองรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่าเซคเตอร์ แต่ละเซคเตอร์มีหมายเลขกำกับ ในการพัฒนาเมืองจริงในสมัยนั้นแบ่งการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ระยะที่หนึ่งประกอบด้วยเซคเตอร์ 1 ถึงเซคเตอร์ 30 ซึ่งเป็นเซคเตอร์ความหนาแน่นต่ำ 17 คนต่อเอเคอร์ มี 24 เซคเตอร์สำหรับรองรับการอยู่อาศัย เพื่อรองรับประชากรจำนวน 150,000 คน ระยะที่สองประกอบด้วยเซคเตอร์ 31 ถึง 47 ซึ่งเป็นเซคเตอร์ความหนาแน่นสูง 60 คนต่อเอเคอร์ รองรับประชากรจำนวน 350,000 คน

กลุ่มอาคารหลักของเมืองได้แก่ The Capitol Complex ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วย the Secretariat, the Assembly Hall, the High Court และ Governor House ซึ่งเลอ คอร์บูซิเยร์เป็นผู้ออกแบบเอง รวมถึงสถาปัตยกรรม Open Hand

ภาพที่ 3 ผังเมืองจัณฑีครห์ที่มีการแบ่งเป็นเซคเตอร์
ภาพที่ 2 ผังเมืองจัณฑีครห์ที่มีการแบ่งเป็นเซคเตอร์

แต่ละเซคเตอร์มีขนาดกว้าง 800 เมตร ยาว 1200 เมตร (ยกเว้นเซคเตอร์ 1 – 6, 12, 14, 17, 26) ในแต่ละเซคเตอร์มีแนวคิดให้เป็นพื้นที่เพื่อชุมชน (neighbourhood unit) มีการใช้ประโยชน์ครบถ้วยภายในเซคเตอร์ เช่น ร้านค้า โรงเรียน ศูนย์อนามัย พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่สำหรับประกอบพิธีทางศาสนา จำนวนประชากรที่แต่ละเซคเตอร์รองรับได้อยู่ระหว่าง 3000 ถึง 20000 คน ขึ้นอยู่กับขนาดแปลงที่ดิน ลักษณะภูมิประเทศและการออกแบบ

แนวคิดการออกแบบภายในเซคเตอร์ประกอบด้วย

  • ขนาดของเซคเตอร์ กว้าง 800 เมตร ยาว 1200 เมตร ซึ่งคำนวณจากระยะทางที่เข้าถึงสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยการเดินภายใน 10 นาที
  • การวางแผนเพื่อให้ข้างในเซคเตอร์สงบเงียบเหมาะกับการอยู่อาศัย (Introvert planning) มีกำแพงแบ่งส่วนภายในเซคเตอร์ออกจากถนนหลัก ไม่ให้ภายในเซคเตอร์ถูกรบกวนจากรถยนต์ที่วิ่งเร็วบนถนนหลัก
  • การวางแผนเพื่อการใช้ชีวิตกับครอบครัวและความเป็นชุมชน เช่น โรงเรียนตั้งอยู่ติดกับแนวพื้นที่สีเขียว ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ ร้านค้าและสถานที่ชุมชนตั้งอยู่ภายในระยะทางเดิน 10 นาที มีป้ายรถเมล์อยู่ติดกับถนนหลักซึ่งอยู่ภายในระยะเดินได้
  • ร้านค้าอยู่บนถนนระดับ V4 ซึ่งเชื่อมต่อไปยังถนนย่านร้านค้าของเซคเตอร์ถัดไป เกิดเป็นแนวถนนร้านค้าขนาดยาวและต่อเนื่อง
  • ร้านค้าและศูนย์ชุมชนอยู่ใจกลางเซคเตอร์
  • สวนสาธารณะ ภายในระยะ 300 เมตร
  • ถนนระดับ V4 และ V5 ออกแบบเพื่อควบคุมความเร็วยานพาหนะ เพื่อความรู้สึกดีและความปลอดภัยของคนเดินเท้าภายในเซคเตอร์
ภาพที่ 3 แนวคิดการออกแบบระยะเดิน 10 นาทีภายในเซคเตอร์
ภาพที่ 3 แนวคิดการออกแบบระยะเดิน 10 นาทีภายในเซคเตอร์

การจัดวางเซคเตอร์ที่มีจุดมุ่งหมายต่างกันลงบนพื้นที่คำนึงถึงความเหมาะสมต่าง ๆ เช่น ส่วนอุตสาหกรรมอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง โดยมีแถบพื้นที่สีเขียว (green belt) คั่นอยู่ เพื่อป้องกันส่วนอยู่อาศัยจากมลภาวะและเสียงต่าง ๆ จากอุตสาหกรรม

ผังเมืองจัณฑีครห์มีลักษณะบล็อกเป็นกริด แต่ละเซคเตอร์เชื่อมต่อกันด้วยถนน เลอ คอร์บูซิเยร์มีแนวคิดว่ารถยนต์จะเป็นปัจจัยสำคัญของการออกแบบเมืองสมัยใหม่ เปรียบถนนเหมือนเป็นเส้นเลือดในร่างกายมนุษย์ เส้นเลือดมีขนาดแตกต่างกันแต่เชื่อมโยงกันและทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เลอ คอร์บูซิเยร์เชื่อว่าการกำหนดลำดับศักย์ถนนที่ดีจะควบคุมการไหลเวียนของยานพาหนะได้ โดยเรียกวิธีนี้ว่า Les Sept Voies de Circulation หรือ 7Vs แนวคิด 7Vs แบ่งระดับของทางสัญจรภายในเมืองออกเป็น 7 ระดับ ดังนี้

  • V1 ถนนเส้นทางหลัก (arterial roads)
  • V2 ถนนหลักที่เล็กกว่า V1 (major boulevards)
  • V3 ถนนที่เป็นเส้นแบ่งเซคเตอร์ต่าง ๆ ของเมือง (sector definers)
  • V4 ถนนย่านชอปปิง (shopping streets)
  • V5 ถนนระดับชุมชน (neighbourhood streets)
  • V6 ถนนเข้าสู่สถานที่ต่าง ๆ (access lanes)
  • V7 ทางคนเดิน (pedestrian paths)

โดยภายหลังเลอ คอร์บูซิเยร์ได้เพิ่ม V8 คือทางจักรยาน (cycle tracks) เข้าไปด้วย

ภายในแต่ละเซคเตอร์ มีทางเข้าออกของรถยนต์เพียง 4 ทางเท่านั้น ได้แก่

  • ตรงกลางเซคเตอร์ในแนวนอนด้านทิศเหนือ
  • ตรงกลางเซคเตอร์ในแนวนอนด้านทิศใต้
  • ตรงกลางเซคเตอร์ในแนวตั้งด้านทิศตะวันออก
  • ตรงกลางเซคเตอร์ในแนวตั้งด้านทิศตะวันตก

เพื่อต้องการให้ภายในเซคเตอร์ถูกรบกวนด้วยการจราจรน้อย นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกแก่คนเดินเท้าโดยมีป้ายรถเมล์ภายในระยะ 200 เมตรจากทางเดินเข้าออกเซคเตอร์

ภาพที่ 4 ภาพจากเซคเตอร์ 10 แสดงทางเข้าออกภายในเซคเตอร์ 4 ทาง ภายในเซคเตอร์เป็นถนนระดับ V4 และ V5
ภาพที่ 4 ภาพจากเซคเตอร์ 10 แสดงทางเข้าออกภายในเซคเตอร์ 4 ทาง ภายในเซคเตอร์เป็นถนนระดับ V4 และ V5

เนื่องจากเลอ คอร์บูซิเยร์ต้องการให้จัณฑีครห์เป็นคล้ายอุทยานนคร มีกลไลหลากหลายเพื่อควบคุมการพัฒนาพื้นที่ทั้งภายในและภายนอกเมือง เช่น การควบคุมการออกแบบอาคาร การจัดโซนนิง การควบคุมโฆษณา ไม่ให้มีการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมทางทิศเหนือของ Capitol Complex มีการออกข้อกำหนดควบคุมพื้นที่รอบนอก (Periphery Control Act) ในปี 1952 ควบคุมให้พื้นที่นอกเมืองเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตร ภายในรัศมี 5 ไมล์จากเมือง (ภายหลังได้ขยายเป็น 10 ไมล์) เพื่อเป็นพื้นที่ผลิตผลิตผลทางการเกษตร ปศุสัตว์เพื่อเมืองจัณฑีครห์ ทั้งยังมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมเบาที่ใช้ไฟฟ้า เพื่อป้องกันการเกิดมลพิษ

วิเคราะห์กายภาพของเมืองกับบริบทเชิงกายภาพ/เศรษฐกิจ/สังคม

เลอ คอร์บูซิเยร์หรือชื่จริงคือ Charles-Édouard Jeanneret เป็นสถาปนิกและนักวางผังเมืองที่สำคัญคนหนึ่งของยุคศตวรรษที่ 20 ผู้คนมักจดจำเขาในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Congrès International d’Architecture Moderne (CIAM) ผู้ที่ต้องการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในเมืองด้วยอาคารสูงที่มาพร้อมพื้นที่สีเขียวโดยรอบเรียงกันอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งแนวความคิดนี้ถูกวิพากษ์อย่างมากว่าละเลยสเกลของผู้คนผู้ใช้งานจริงไป อย่างไรก็ดี เมืองจัณฑีครห์กลับไม่ได้เต็มไปด้วยอาคารสูงตามแบบของ Radiant City แต่ยังคงแนวคิดพื้นที่สีเขียวที่พบเห็นได้ทั่วไปในเมือง

จากที่เลอ คอร์บูซิเยร์เริ่มเข้ามาวางแผนเมืองให้จัณฑีครห์ในปี 1950 เมืองจัณฑีครห์ได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมา จากเดิมที่วางแผนไว้สำหรับประชากร 500,000 คน ตามสำมะโนประชากรปี 2011 จัณฑีครห์มีประชากรถึง 1,054,686 คน หรือสองเท่าจากที่เลอ คอร์บูซิเยร์วางแผนไว้ในตอนแรก จัณฑีครห์ในปัจจุบันกลายเป็นศูนย์กลางด้านวัฒนธรรม พาณิชยกรรม การศึกษาและการบริหารของอินเดียตอนเหนือ มีความสำคัญเป็นรองเพียงเมืองเดลี นอกจากนี้จัณฑีครห์ยังมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงสุดในอินเดีย เป็นเมืองที่แลดูเป็นระเบียบ และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดในอินเดีย

อย่างไรก็ดี มีข้อวิพากษ์หลายข้อต่อการวางผังเมืองจัณฑีครห์ของเลอ คอร์บูซิเยร์ เนื่องจากแนวคิดของ CIAM ที่ต้องการสร้างพื้นที่ว่างโล่ง พื้นที่รับแสง และพื้นที่สีเขียวนั้นได้รับอิทธิพลจากความต้องการแก้ไขเมืองในยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แออัด จัณฑีครห์จึงเป็นเมืองที่มีถนนกว้างขวาง มีแถบพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กลางพื้นที่ พื้นที่กว้างขวางเมื่อเทียบกับประชากรที่ยังมีอยู่ไม่มาก ทำให้บางพื้นที่ดูร้างและไม่เชื้อเชิญให้คนเข้าไปใช้พื้นที่

การออกแบบการใช้พื้นที่ในเมืองจัณฑีครห์ยังถูกวิพากษ์ว่าละเลยอัตลักษณ์ วิธีชีวิต รวมทั้งสภาพภูมิอากาศของอินเดีย พื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะถนนนั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้คนท้องถิ่นใช้งานได้ตามต้องการ ตามแนวคิดแบ่งการใช้งานพื้นที่อย่างเด็ดขาดของ CIAM ที่ต้องการแยกพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย การทำงานและการพักผ่อนออกจากกัน ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะบังคับผู้คนให้ปฏิบัติตาม จึงเห็นปรากฏการณ์การใช้พื้นที่ตามโอกาสที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในเมืองจัณฑีครห์ เช่น คนขายของข้างทางบนถนน นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ถึงแม้เมืองจะวางแผนเป็นอย่างดีแต่ก็เพื่อรองรับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เช่น คนทำงานในส่วนรัฐบาล นักการเมือง คนทำงานในสถาบันการศึกษา ฯลฯ แต่ไม่ได้วางแผนเพื่อคนที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเมืองทุกส่วน เช่น คนกวาดถนน คนหาเช้ากินค่ำ คนงานก่อสร้าง และแรงงานชั่วคราว

ประเด็นต่อมาคือ ช่องว่างระหว่างการวางแผนกับผลลัพธ์การพัฒนาที่ดินที่เกิดขึ้นจริง ตามแผนแล้ว จัณฑีครห์ควรจะถูกพัฒนาใน 3 ระยะอย่างเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือด้านทิศเหนือของเมืองที่ถูกพัฒนาในระยะแรก เป็นศูนย์กลางการทำงานและที่อยู่อาศัยหนาแน่นต่ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้สูง มีสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่เพียบพร้อมกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของเมือง

การวางผังเมืองของจัณฑีครห์ยังเป็นการวางผังที่คำนึงถึงเฉพาะตัวเมืองจัณฑีครห์แต่ไม่ได้คำนึงถึงความสัมพันธ์ของเมืองในระดับภาค เลอ คอร์บูซิเยร์ตั้งใจให้ไม่มีการพัฒนาในระยะ 16 กิโลเมตรรอบเมือง เพื่อรักษาเป็นแถบพื้นที่สีเขียว แต่ในความเป็นจริงรัฐ 2 รัฐด้านข้างได้แก่รัฐปัญจาบและรัฐหรยาณากลายมาเป็นที่รองรับประชากรที่ไม่ได้อยู่อาศัยในเมืองจัณฑีครห์ แต่เดินทางเข้ามาทำงานและใช้สาธารณูปโภคสาธารณูปการของเมืองจัณฑีครห์ในเวลากลางวัน เมืองจัณฑีครห์ เมือง Panchkula และเมือง Mohali ของ 2 รัฐด้านข้างมีความสัมพันธ์ระหว่างกันในระดับภาค จำนวนประชากรจริงที่เข้ามาใช้ทรัพยากรในเมืองจัณฑีครห์จึงมากกว่าที่วางแผนไว้โดยพิจารณาเฉพาะเมืองจัณฑีครห์เพียงเมืองเดียว

ข้อกำหนดที่ควบคุมการออกแบบอาคารเพื่อรักษาทัศนียภาพให้สอดคล้องกัน ถูกวิพากษ์ว่าไม่สนับสนุนความหลากหลายของทัศนียภาพเมืองตามความต้องการใช้งานที่แตกต่างออกไป สถาปนิกผู้ออกแบบอาคารใหม่ ๆ ในเมืองจัณฑีครห์มีความต้องการที่จะแสดงความเป็นตัวตนออกมาในงานออกแบบ แต่ติดข้อกำหนดว่าด้วยการออกแบบอาคาร

พื้นที่บางส่วนที่ถูกวางแผนไว้ให้เป็นพื้นที่สาธารณะเช่นลานหน้า High Court ก็ถูกล้อมรั้วด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัย ทำให้คนทั่วไปเข้าใช้พื้นที่ไม่ได้ พื้นที่แลดูร้างและว่างเปล่า

อีกความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่มาเยือนเมืองจัณฑีครห์คือการที่ Capitol Complex ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประกาศโดย UNESCO เมื่อกรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา น่าสนใจว่าเมืองจัณฑีครห์จะวางแผนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างไร และจะใช้โอกาสนี้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและเมืองต่อไปอย่างไร

จัณฑีครห์ เป็นเมืองที่ได้รับการกล่าวถึงทั้งในแง่ที่เป็นเมืองที่ถูกออกแบบและวางแผนตามแนวคิดสมัยใหม่ (Modernism) เป็นตัวอย่างของเมืองที่ถูกสร้างขึ้นจริงตามแนวคิดสถาปนิกชื่อดังอย่างเลอ คอร์บูซิเยร์ ซึ่งมีสถาปนิกและนักผังเมืองในยุคหลังศึกษาผลงานของเขาเป็นจำนวนมาก เมืองนั้นที่มีความเป็นพลวัตเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานทำได้ง่ายขึ้น การแข่งขันระหว่างเมืองก็สูงขึ้นเป็นลำดับ จัณฑีครห์ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องปรับตัวเพื่อยืนหยัดท่ามกลางกระแสของความเปลี่ยนแปลงนี้ ผังเมืองที่ได้รับการวางแผนโดยเลอ คอร์บูซิเยร์เมื่อ 66 ปีที่แล้ว อิทธิพลของการวางแผนนี้จะตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อไปนั้นน่าสนใจและน่าจับตามองต่อไป จัณฑีครห์ก็จะเป็นหนึ่งในเมืองที่นักผังเมืองรุ่นหลังควรศึกษาความเป็นไปและพัฒนาการของเมือง

อ้างอิง

Almeida, T. (2013). Le Corbusier: How a utopic vision became pathological in practice. Retrieved from https://orangeticker.wordpress.com/2013/03/05/le-corbusier-how-a-utopic-vision-became-pathological-in-practic/.

Avasak, G., Mathur, N. and Kamineni, P. (n.d.). CHANDIGARH Urban Planning Concepts.

Office of the Registrar General & Census Commissioner. (2011). “Provisional Population Totals, Census of India 2011; Urban Agglomerations/Cities having population 1 lakh and above”. Office of the Registrar General & Census Commissioner, India.

Nangia, A. (2004). The City of Chandigarh – II. Retrieved from http://www.boloji.com/index.cfm?md=Content&sd=Articles&ArticleID=1016.

Sandhu, A. K. (2003). Challenges of urbanization and planned development of Chandigarh a critique of the periphery act. Panjab University. Retrieved from http://shodhganga.inflibnet.ac.in/handle/10603/87524.

Verma, S. (2016). City Planning of Chandigarh. Retrieved from http://www.slideshare.net/san17/chandigarh-city-planning?smtNoRedir=1.

ที่มาภาพประกอบ

ภาพที่ 1 https://en.wikipedia.org/wiki/File:IN-CH.svg

ภาพที่ 2 http://www.tcdc.or.th/articles/business-industrial/13640/#จัณฑีครห์-Chandigarh–เมื่ออดีตออกแบบอนาคต

ภาพที่ 3, 4 http://chandigarh.gov.in/cmp2031/physical-setting.pdf

 

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*