สถาปนิกผังเมือง (Urban designer) ไม่ใช่นักวางแผนเมือง (Urban planner)

จั่วหัวขึ้นมาอย่างนี้ เพราะถึงแม้ทั้งคู่จะทำเรื่องเกี่ยวกับเมือง ๆ ก็ตาม แต่บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบและองค์ความรู้เบื้องหลังนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหลักสูตรการวางแผนเมืองในหลายมหาวิทยาลัยในไทย ถูกจัดเข้าไปอยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพียงเพราะว่าเป็นที่ ๆ มีหลักสูตรการออกแบบเมือง (urban design) อยู่เดิม

นักวางแผนเมือง (หรือไทยชอบเรียกนักผังเมือง แต่ส่วนตัวคิดว่าความเป็น urban planner ต้องทำอะไรได้มากกว่าแค่การทำผังเมือง) นั้นต้องรู้ศาสตร์หลากหลายมากกว่าแค่เพียงแค่การออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ เพราะเมืองไม่สวยแต่ function คนยังพออยู่ได้ แต่เมืองที่มีแต่อาคารสวย ๆ แต่ทางเท้าเละ ๆ ขนส่งมวลชนแย่ ๆ คนอยู่ไม่มีความสุข

สกิลที่นักวางแผนเมืองควรมีก็แตกต่างจากสกิลของสถาปนิก การที่เราเอาหลักสูตรการวางแผนเมืองไปใส่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ทำให้นักเรียนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าเรียนสถาปัตย์จบแล้วไปเรียนต่อผังเมืองก็ได้คล้าย ๆ กัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การวางแผนเมืองต้องการ analytical skill, critical thinking skill (ยังไม่นับ soft skill ที่ไว้จะอธิบายในตอนต่อไป)

นอกจากนี้ ถึงแม้ผังเมือง(ไม่ใช่การวางแผนเมือง)จะเป็นเรื่องของกายภาพ (กายภาพในที่นี้หมายถึง ผังเมืองคือการแปล requirement ต่าง ๆ ให้ออกมาให้รูปของข้อกำหนดการใช้พื้นที่ เพราะรัฐไม่สามารถสร้างอาคารเองได้ทุกที่ แต่ต้องออกกฎอะไรมาซักอย่างเพื่อกระตุ้นให้เอกชนนั้นสร้างอาคารตามที่รัฐอยากให้เป็น) แต่ใช่ว่าคนที่เรียนมาทางด้านกายภาพทุกคน (เช่น ภูมิศาสตร์ ฯลฯ) จะเหมาะกับการวางแผนเมือง

ถ้าถามว่าแล้วสถาปนิกผังเมืองกับนักวางแผนเมืองควรเกี่ยวข้องกันอย่างไร คำตอบคือ นักวางแผนเมืองเป็นคนทำผังเมืองต่าง ๆ ออกมา เมื่อเสร็จแล้วสถาปนิกผังเมืองค่อยเข้าไปออกแบบพื้นที่พิเศษ เช่น พื้นที่อนุรักษ์ ชุมชนประวัติศาสตร์ ฯลฯ ส่วนสถาปนิกก็ทำหน้าที่ออกแบบอาคารต่อไป

จริง ๆ ที่ผังเมืองไทยไม่ค่อยเวิร์ค ยังมีอีกหลายปัจจัย ทั้งเชิงโครงสร้างการบริหารและอื่น ๆ แต่ในที่นี้ขอยกตัวอย่างแค่ว่าถ้าหลักสูตรการวางแผนเมืองไม่ได้อยู่กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว น่าจะดึงดูดคนที่มีความสามารถหลากหลายมากกว่าแค่คนที่สนใจการออกแบบหรือความรู้เชิงกายภาพให้เข้ามาเรียนในหลักสูตรการวางแผนเมืองได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

2 Comments

  1. การจัด Urban Planner ไว้ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้น ถูกต้องแล้ว หรือแม้จะไม่ใช่อย่างที่สุด แต่ก็ไม่ผิดอย่างแน่นอน (จะได้อธิบายต่อไป) ผู้เขียนเห็นว่า นักผังเมืองเป็นนักวางแผน (Planner) มากกว่าเป็นสถาปนิก มุมมองเช่นนี้ ไม่ได้ผิดอะไร เพราะนักผังเมืองถูกหล่อหลอมมาด้วยศาสตร์หลายศาสตร์ และมีลักษณะเป็นนักปฏิบัติ โดยเป็นนักวางแผนเมืองอย่างที่กล่าวมาจริง ๆ มากกว่าที่จะเป็นศิลปินหรือนักออกแบบ สถาปนิกไทยบางคนยังเอ่ยด้วยซ้ำว่า ตนไม่ค่อยรู้เรื่องผังเมือง เพราะเป็นอะไรที่ต่างออกไปจากการออกแบบล้วน ๆ ในขณะที่นักผังเมืองก็จะมองว่า ตนคือนักวางแผนเมือง เพราะผังเมืองคืองานวางแผน

    กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว นักผังเมือง (โดยเฉพาะในต่างประเทศ) ต้องทำงานประสานกับทั้งวิศวกร และสถาปนิกผังเมือง (Urban Designer) นายกเทศมนตรี (Mayor) และประชาชน

    หลักสูตรการวางแผนเมืองในแต่ละประเทศมีพัฒนาการแตกต่างกันและใช้ชื่อเรียกต่างกันมากมาย เช่น ที่อเมริกา มีทั้ง Community Planning/Community and Regional Planning/City Planning/City and Regional Planning/Urban Planning/Urban and Regional Planning/Metropolitan Planning/Regional Planning ในอังกฤษ ก็มีหลักสูตร Regional Science หรือ Urban Planning, Design and Management เป็นต้น

    ในอเมริกา หลักสูตรลักษณะนี้ มีสังกัดอยู่กับฝ่ายสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ (Social and Behavioral Science) หลักสูตรในรูปแบบนี้ ก็จะเน้นหนักไปทางสังคมศาสตร์ทั้งหลาย มีการเรียนรัฐศาสตร์ บริหารรัฐกิจ สถิติ เศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม กฎหมายการจัดการที่ดิน GIS และหลักการออกแบบ ส่วนที่สังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็จะเน้นการออกแบบที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ส่วนที่ประสาทปริญญาแบบวิทยาศาสตร์ ก็จะส่วนผสมที่เน้นไปทางเทคนิค และเทคโนโลยี

    หลักสูตรด้านการผังเมืองในอเมริกา จึงมีการผสมผสานความรู้หลากหลายสาขา ขึ้นอยู่กับการออกแบบหลักสูตรเป็นสำคัญ และปริญญาที่ได้รับก็เป็นได้ทั้ง ศิลปศาสตร์ (….of Arts) วิทยาศาสตร์ (…..of Science เช่นที่ MIT) หรือใช้ชื่อของสายนั้นตรงตัวไปเลยแบบเดียวกับศึกษาศาสตร์ หรือนิติศาสตร์ หรือสถาปัตยกรรมศาสตร์ (……of City and Regional Planning เช่น ที่ U of California Berkeley ซึ่งจับเอา Architect มาอยู่รวมกับ City and Planning, Landscape Architecture และ Environmental Design มาอยู่ในสถาบันเดียวกัน)

    ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่า หลักสูตรด้านผังเมืองจะต้องสังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แต่อย่างใด และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่า หลักสูตรด้านการผังเมืองควรจะสังกัดสถาบัน หรือคณะที่พิเศษ นอกเหนือจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์เช่นกัน

    สาขาการผังเมืองจะอยู่สังกัดใด จึงขึ้นอยู่กับการออกแบบหลักสูตร และการประสาทปริญญานั่นเอง

    ในเมืองไทย ยกตัวอย่างเช่น ที่จุฬา ก็มีภาควิชา City and Regional Planning หรือการวางผังภาคและเมือง ซึ่งถือได้ว่า ผลิต City Planner ส่วน Urban Designer จะมาจาก ภาควิชาภูมิสถาปัตย์ (Landscape Architecture) คำเรียกในภาษาไทยก็แตกต่างกันอยู่แล้ว กล่าวคือ City Planner คือนักผังเมือง ส่วน Urban Designer คือสถาปนิกผังเมือง อันที่จริง หลักสูตรด้านการผังเมืองของมหาวิทยาลัยไทยมักจะอยู่ในสังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

    อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนด้านการผังเมือง ถือว่าสถาปนิกมีบทบาทอย่างสำคัญทีเดียว ทั้งในแง่การวางรากฐาน แนวคิดในการออกแบบเมืองมักจะเกิดจากสถาปนิก (การพิจารณาจัดวางองค์ประกอบของพื้นที่คือการออกแบบ) เช่น TOD ของ Peter Calthrope หรือ New Urbanism ของ Andres Duany เป็นต้น ซึ่งเป็นสถาปนิก ทั้งสิ้น ดังนั้น ยากจะปฏิเสธว่า การผังเมืองจะขาดซึ่งแนวคิดทางสถาปัตยกรรมมิได้ มีข้อสังเกตด้วยว่า สำนักงาน ก.พ. ก็จัดให้ สาขาวิชา Urban Planning อยู่ในสถาปัตยกรรมศาสตร์

    ประเด็นที่ผู้เขียนกล่าวว่า “ผังเมืองไม่ใช่การวางแผนเมือง” นั้น ผังเมืองในบริบทที่ผู้เขียนกล่าวถึงในเชิงกายภาพนี้ ที่จริง ควรต้องพิจารณาถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง คือ “แผน” และ “ผัง”

    แผน และ ผัง ในภาษาอังกฤษนั้น ใช้คำ ๆ เดียวกัน คือ Plan ซึ่งแปลได้ทั้งแผน และผัง หากหมายถึงในเชิงกายภาพ Plan ก็คือ ผัง แต่หากหมายถึงการทำแผน Plan ก็คือ แผน หรือการจัดทำแผน (Planning) เพื่อไม่ให้สับสน สังคมไทยควรจะแปล City Plan/City Planning เสียใหม่ หรืออย่างน้อยก็ควรใช้ควบคู่กับคำว่า “ผังเมือง” ที่ชวนให้เข้าใจไปว่า “ทำเฉพาะแผนผัง” ว่า “แผนพัฒนาเมือง” นักผังเมืองในต่างประเทศนั้น “ทำทั้งแผนเมืองและผังเมือง”

    ในแง่ของการเรียนการสอนด้านการผังเมืองในประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีอะไรผิดแผกไปจากสากลเท่าใดนัก เช่น ผู้ที่เรียนภูมิศาสตร์ก็สามารถเรียนต่อยอดเป็นนักผังเมืองได้ ผู้ที่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็สามารถมาเรียนต่อยอดเป็นนักผังเมืองได้ ผู้ที่เรียนเศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ก็สามารถมาเรียนต่อยอดเป็นนักผังเมืองได้ ซึ่งทั่วโลกก็มีพัฒนาการเป็นสหวิทยาการเช่นนี้ทั้งสิ้น โดยอาจเน้นไปที่ “การจัดการเมือง” ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในกำกับของกรุงเทพมหานคร ก็พยายามออกแบบหลักสูตรให้เป็นการบริหารจัดการเมืองของนักบริหารมากขึ้น (แต่ก็ไม่น่าจะถือว่าเป็นหลักสูตรด้านการผังเมือง)

    แต่ความคิดที่ผู้เขียนครุ่นคิดนั้น แท้จริงแล้ว น่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำถามที่ว่า “แผนเมือง/แผนพัฒนาเมืองของไทยอยู่ที่ไหน” “ใครทำ” และ “ผังเมืองของไทยอยู่ที่ไหน” “ใครทำ” มากกว่า ซึ่งจะขอข้ามประเด็นนี้ไป

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลักสูตรด้านการผังเมืองของไทยดูเหมือนจะขาดหายไปก็คือ “ความเข้มข้นในเชิงสหวิทยาการอันนำไปสู่การปฏิบัติ” อาทิ การกำหนดข้อบัญญัติผังเมือง หรือ City Code การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง การแบ่งแปลงที่ดิน (subdivision) บทบาทที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นของข้าราชการ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่ได้ศึกษามาทางด้านผังเมืองเลย

    ขีดความสามารถของนักผังเมืองไทยในเชิงสหวิทยาการ จึงดูแหว่งวิ่นไป แตกต่างกับนักผังเมืองในต่างประเทศ และสถาบันการศึกษาในด้านนี้ของไทย ก็ยังไม่สามารถเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้ได้มากเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลที่ว่า ภาควิชาการเข้าไม่ถึงการทำงานของภาคราชการ เพียงแค่การรับจ้างทำวิจัยให้ส่วนราชการนั้น คงไม่พอ นักวิชาการด้านการผังเมืองแทบจะไม่รู้ว่า การออกโฉนดที่ดินทำกันอย่างไร การออกข้อบัญญัติของเทศบาลทำกันอย่างไร การจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองทำอย่างไร การอนุรักษ์อาคารทำอย่างไร “เมืองคือพื้นที่ปฏิบัติการของนักผังเมือง”

    ปัญหานี้ หากทบทวนย้อนกลับไป ก็เป็นเรื่องที่ว่า ผู้ปฏิบัติในการวางแผนพัฒนาเมืองของไทยคือข้าราชการ นักผังเมืองไทย ซึ่งแม้จะเป็นข้าราชการด้วยเช่นกัน ก็ไม่ได้ทำทุกเรื่อง สิ่งที่ทำเป็นหลักคือ การกำหนดแผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Map-ผังเมืองรวม) หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า “การวางผัง” นั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่า นักผังเมืองไทยไม่ได้ทำงานรอบด้านอย่างนักผังเมืองในต่างประเทศ จนกลายเป็นความจำกัดจำเขี่ย ที่สุดท้ายทำให้นักผังเมืองไทยแทบไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเมือง เทียบไม่ได้แม้แต่กับสถาปนิก ซึ่งไม่ใช่ความผิดของนักผังเมืองไทยแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะโครงสร้างการบริหารราชการ ที่เบียดขับลดความสำคัญด้านการผังเมืองลง และนักวิชาชีพอื่น เช่น นักจัดการสิ่งแวดล้อม วิศวกรสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในการจัดการเมืองก็ประสบชะตากรรมเดียวกัน การพัฒนาเมืองในประเทศไทย

    กล่าวโดยสรุป หลักสูตรการผังเมืองไม่จำเป็นต้องแยกออกไปจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แต่อย่างใด เพราะสามารถออกแบบหลักสูตรให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ แต่สิ่งที่ขาดหายไป คือการผนวกโลกของการปฏิบัติจริง ที่ฝ่ายราชการเป็นผู้ผูกขาด เข้ามาสู่การศึกษา เรียนรู้ในแบบวิชาการ

    ฝ่ายราชการนั้นไม่ได้พัฒนาเมือง ในมิติของเมือง หากแต่พัฒนาเมืองตามฟังก์ชันของแต่ละส่วนราชการเอง

  2. เขียนกันได้ชัดเจนมากครับ ผมจบ Urban Planning จากต่างประเทศมา กลับมาทำงานที่ไทยหงายหลังเลยทำอะไรกัน Urban planner ไม่ใช่นักผังเมืองเลย ผมอยากนิยามว่าเป็นนักวางแผนพัฒนาเมืองเช่นเดียวกัน ผังเมืองเป็นแค่เรื่องย่อยๆ ที่ทำหลังจากแผนพัฒนาเมืองเสร็จสมบูรณ์ ผมมีความหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีและผลประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการพัฒนาบ้านเมืองเรา

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*