นักวางแผนเมืองไม่ควรถูกสอนให้เป็นพระเจ้า

“เอาโรงงานไปวางตรงนี้ละกัน ยังไงเราก็ไล่เค้า(หมายถึงคนที่อยู่ตรงนั้นอยู่เดิม)ไปได้อยู่แล้วนิ” ประโยคธรรมดา ๆ ที่ได้ยินระหว่างเรียนปฏิบัติการวางแผนเมือง แต่สะท้อนอะไรได้ดีทีเดียว

แน่นอนว่าแค่คำพูด ๆ เดียว ซึ่งอาจจะไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองมากนัก จะเอามาคิดเหมารวมไม่ได้ว่าคนที่เรียนการวางแผนเมืองจะเป็นอย่างนี้ทั้งหมด แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ เมื่อนักเรียนทั้งหลายจบไป เค้าจะยังมีความคิดนี้อยู่มากน้อยแค่ไหน และการเรียนการสอนด้านการวางแผนเมืองของเรา ผลิตคนที่คิดแบบไหนออกมา? เค้าตระหนักกันแค่ไหนว่า เมื่อออกไปประกอบวิชาชีพแล้ว การกระทำของเค้าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจริง ๆ

หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า การวางแผนเมืองนั้นไม่มีอะไรซับซ้อน ก็แค่วิเคราะห์ดูว่าพื้นที่ตรงนั้นเป็นยังไงบ้าง เหมาะสมจะให้ทำอะไร แล้วก็เปิดแผนที่ระบายสี(โซนนิ่ง)ลงไป ถ้ามีความจำเป็นต้องรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็(เวนคืนที่แล้ว)สร้างถนน ทางด่วน ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ เพิ่มเสียสิ

มันดูง่ายราวกับนั่งเล่นเกมซิมซิตี้ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ทุกสิ่งที่ทำลงไปล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตคนจริง ๆ ทั้งนั้น

ใครเคยคิดบ้างว่า ทางด่วนหรือถนนที่เราวิ่ง ๆ กันอยู่บนนั้น เดิมทีด้านล่างเคยเป็นบ้านของใครมาก่อน และถ้าคิดต่อไปอีก บ้านคนที่ถูกเวนคืนเหล่านั้นมักไม่ใช่อาคารสูงใหญ่ เนื่องจากค่าเวนคืนจะแพง ที่ ๆ ถูกเวนคืนจึงมักเป็นชุมชนผู้มีรายได้น้อย บ้านของคนที่ไม่มีปากมีเสียงอะไรในสังคมนี้ ฯลฯ แน่นอนว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นและให้ประโยชน์กับคนส่วนใหญ่กว่าของเมือง แต่นั่นคือการวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ของโครงการ (Cost-benefit analysis) ตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ซึ่งคิดคำนวณเพียงว่าอะไรจะเป็นประโยชน์กับคนหมู่มากที่สุด ดังนั้นการที่ชุมชนผู้มีรายได้น้อยต้องย้ายออกไป ค่าใช้จ่ายที่ต้องชดเชยให้กับเค้า เมื่อเทียบกับมูลค่าผลประโยชน์ที่คนในสังคมจะได้รับได้แล้ว ผลประโยชน์นั้นมากกว่านัก

การวิเคราะห์ต้นทุนและประโยชน์ของโครงการตามแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมนั้นเป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันมาก แต่กับเมืองแล้ว มันเป็นเครื่องมือที่ดีจริงหรือ? แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์ในแง่ที่ว่า ไม่สนใจผลกระทบต่อคนกลุ่มน้อยที่เสียผลประโยชน์, ไม่สนใจเรื่องการกระจายผลประโยชน์ และการคำนวณนั้นก็มักลำเอียงเข้าข้างผู้ที่มีรายได้สูงกว่า เช่น การสร้างรถไฟฟ้าที่ช่วยประหยัดเวลาคนรายได้ปานกลางขึ้นไป ย่อมให้ประโยชน์เชิงปริมาณสูงกว่าการลงทุนในรถเมล์ที่ช่วยประหยัดเวลาคนรายได้น้อย (เพราะเราคิดว่าเวลาของคนรายได้ปานกลาง มีค่ามากกว่าเวลาของคนรายได้น้อย)

ตัวอย่างที่ยกมาเป็นตัวอย่างที่เน้นกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์ ลองดูตัวอย่างจากอีกมุมบ้าง กรณีของรถไฟฟ้า บางสถานีจะสังเกตเห็นว่ามีตึกแถวหนึ่งห้องถูกเวนคืนไปเพื่อทำทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้า คิดง่าย ๆ ก็คือ “คนที่อยู่ตรงนี้ซวยจริง ๆ โดนเวนคืน คนที่อยู่ข้าง ๆ โชคดีสุด ๆ ที่อยู่ ๆ ก็มีที่ติดทางขึ้นลงรถไฟฟ้า ราคาที่ดินพุ่งพรวดโดยไม่ต้องทำอะไร”

แน่นอนถ้าคิดแค่ผลประโยชน์กับคนหมู่มาก ก็ไม่เห็นต้องคิดอะไรต่อนิ คนที่ถูกเวนคืนก็ได้เงินชดเชยไป คนที่อยู่ต่อก็โชคดีที่ดินราคาสูงขึ้น คนในสังคมก็ได้ใช้รถไฟฟ้า(ที่ทางขึ้นลงไม่ขวางทางเท้า)

มันเป็นแค่เรื่องของความซวยกับโชคเท่านั้นจริง ๆ หรือ? สังคมก็ได้ประโยชน์ไปแล้ว สำหรับคนในสังคมทั่วไปแค่คิดเช่นนั้นก็คงจะพอ แต่สำหรับนักวางแผนเมืองแล้ว เค้าควรคิดแค่นี้จริง ๆ หรือ? การวางแผนเมืองควรเป็นอย่างไร? นักวางแผนเมืองควรจะแค่ไปดูพื้นที่ สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ประชุมกับผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา เอาข้อมูลมาวิเคราะห์ แล้วก็เขียนเป็นข้อกำหนดต่าง ๆ แค่นั้นพอมั้ย? หรือนักวางแผนเมืองควรทำหน้าที่อะไรเพื่อทำให้เมืองนั้นเป็นธรรมสำหรับทุก ๆ คน? แล้วเราควรปล่อยให้การตัดสินใจเรื่องเมืองเป็นเพียงหน้าที่ของนักวางแผนเมืองเท่านั้นพอมั้ย?

แน่นอนว่ามันไม่มีคำตอบตายตัวว่านักวางแผนเมืองควรรู้อะไร และควรทำหน้าที่อะไรบ้าง เพราะนักวางแผนเมืองก็ต้องเข้าไปอยู่ในหลายตำแหน่ง เช่นในรัฐส่วนกลาง หรือเข้าไปคลุกคลีกับชุมชน แต่ถ้าเราอยากให้เมืองเป็นเมืองที่คำนึงถึงทุก ๆ คนแล้ว ทักษะสำคัญที่นักวางแผนเมืองจำเป็นจะต้องมีนอกเหนือไปจาก technical skill คือ soft skill โดยเฉพาะการสื่อสาร(การรับฟัง) การเป็นคนกลาง เป็นคนไกล่เกลี่ย เป็นคนต่อรอง ฯลฯ เพื่อหาข้อสรุปจากคนในเมืองหลายกลุ่ม

นอกจากนี้กระบวนการวางแผนเมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร? อย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นว่าก็เอาข้อมูลทั้งหมดมากองรวม ๆ กันแล้วก็วิเคราะห์ออกมา เป็นคำอธิบายอย่างง่าย ๆ ของกระบวนการวางแผนกระแสหลักที่เรียกว่า Rational comprehensive planning ซึ่งสอนและใช้กันอยู่มากในประเทศไทย แต่ก็มีข้อวิพากษ์ว่า “คน”เราจะ comprehend (เข้าใจ)ได้ทุกอย่างจริง ๆ เหรอ? ในขณะที่ทฤษฎีการวางแผนเชิงกระบวนการในโลกนี้นั้นมีอีกหลายแบบ เช่น incrementalist planning, mixed-scanning model, advocacy model, strategic planning, scenario planning, communicative planning ถ้าเอาเข้าจริง ๆ นักวางแผนเมืองก็ควรจะได้เรียนรู้ไว้บ้างเพื่อที่จะเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม

ที่กล่าวมาทั้งหมดก็อยากจะให้เห็นภาพว่าการวางแผนเมืองในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น ไม่ได้ง่ายเหมือนกับการเล่นเกมซิมซิตี้ แต่นักวางแผนเมืองควรจะเข้าใจในหลาย ๆ ด้านและรู้ว่า การวางแผนเมืองโดยเฉพาะการทำผังเมืองถือเป็นการลิดรอนสิทธิคนอื่น (แทนที่เค้าจะทำอะไรก็ได้บนที่ดินของเค้า นักวางแผนเมืองกำลังลิดรอนสิทธิโดยการบอกว่าตรงนี้สร้างอะไรได้ สร้างอะไรไม่ได้) นักวางแผนเมืองไม่สามารถทำให้ไม่มีใครเสียผลประโยชน์ได้ แต่ขอให้ตระหนักและตอบได้ว่าสิ่งที่ตนเองตัดสินใจลงไปนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอะไร และเพื่ออะไร

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*