ทำไมกรุงเทพฯ รถติด: ตอนเพราะบนถนนจอดรถฟรี

“ก็แหงอยู่แล้ว” หลาย ๆ คนคงคิดเช่นนั้น การจอดรถบนถนนทำให้เสียพื้นที่จราจรไปเห็น ๆ แต่เรื่องไม่จบแค่นั้นน่ะสิ การที่รัฐไม่เก็บค่าที่จอดรถบนถนนในเมือง ทำให้เกิดผลกระทบที่มองไม่เห็นมากกว่านั้นเยอะ

สำหรับคนที่ขับรถ คุณเคยวนหาที่จอดรถไปเรื่อย ๆ บนถนนไหม? ถ้าใช่ก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะคุณก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถติดเพิ่ม มีการศึกษาในหลายประเทศพบว่าปริมาณรถบนถนนในเมืองนั้นเกิดจากรถที่วนหาที่จอดฟรีเฉลี่ยสูงถึง 30%1 เลยทีเดียว สำหรับกรุงเทพฯ เรามองไม่เห็นเลยว่ารถที่วิ่งอยู่บนทั้งถนนทั้งหมดนั้น ใครบ้างที่กำลังเดินทาง และใครบ้างที่กำลังวนหาที่จอด (cruising)

อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงที่จอดรถบนถนน (on-street) เป็นหลัก เพราะการวนหาที่จอดรถบนถนนนั้นเพิ่มปริมาณรถบนถนนโดยตรง ต่างจากที่จอดรถแบบไม่ใช่บนถนน (off-street) ซึ่งรถที่เข้าไปวนไม่ได้เพิ่มปริมาณรถบนถนน แต่ก็อาจส่งผลกระทบได้กรณีที่หางแถวรถที่รอเข้าที่จอดรถนั้นล้นออกมาบนผิวการจราจร

นอกจากจะเพิ่มปริมาณรถบนถนนแล้ว เหล่ารถที่วนหาที่จอดนี้ก็มักจะขับช้าด้วย ยิ่งทำให้การจราจรบนถนนเคลื่อนตัวได้ช้าลงไปอีก อีกประเด็นที่สำคัญมาก ๆ คือที่จอดรถที่ฟรีหรือคิดราคาถูกเกินไป เพิ่มแรงจูงใจให้คนเอารถออกมาขับมากขึ้น

แล้วจะแก้ปัญหานี้ยังไงดี? ต้องแยกออกเป็น 2 ประเด็นคือ ถนนตรงนั้นสมควรเป็นที่จอดรถหรือไม่ กับ ควรเก็บค่าจอดรถเท่าไหร่

ประเด็นแรกที่ว่าถนนตรงนั้นสมควรเป็นที่จอดรถหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับตำแหน่งและช่วงเวลา ถนนในเมืองแต่การจราจรเบาบางช่วงกลางวัน ก็อาจอนุญาตให้จอดรถได้ช่วงกลางวัน แต่ในถนนสายหลักการจราจรคับคั่งหรือซอยใหญ่ ๆ ก็ควรพิจารณาใหม่ได้แล้วว่าจะยังอนุญาตให้จอดรถบนถนนต่อไปหรือไม่

ถ้าคิดว่าตรงนั้นควรอนุญาตให้จอดรถได้ ก็มาถึงประเด็นถัดไปคือ ควรเก็บค่าจอดรถเท่าไหร่ ถ้าคิดในแง่ความคุ้มทุนเพียงอย่างเดียว บางคนก็อาจตอบว่าให้เก็บเพื่อเป็นค่าซ่อมบำรุงมิเตอร์จอดรถหรือค่าพนักงานเก็บเงิน แต่อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงปัญหารถติดจากคนที่วนหาที่จอดรถ คิดกลับกันก็คือ ถ้าบนถนนมีที่จอดรถว่างซักช่องสองช่องตลอดเวลา เมื่อคนขับรถมาถึงก็มีที่จอดเสมอจึงจะแก้ปัญหาคนวนหาที่จอดรถได้

การคิดราคาเช่นนี้เป็นการคิดราคาตามหลักอุปสงค์อุปทาน ก็คือคิดราคาที่ไม่ถูกไปจนที่จอดรถเต็ม และก็ไม่แพงไปจนไม่มีใครมาจอด นักวิชาการชื่อ Shoup ได้เสนอหลักการตั้งราคาที่จอดรถบนถนนให้เต็ม 85% (ก็คือมีที่จอดว่าง 15% ตลอดเวลา) เรียกว่า performance parking price ถ้านึกภาพบล็อกถนนในอเมริกาก็ประมาณเอาว่าในหนึ่งบล็อกให้มีที่จอดว่าง 1 คัน

ที่จอดรถฟรีหรือราคาถูกเกินไป คนจอดเต็มตลอดเวลา

 

ที่จอดรถที่คิดราคาตามอุปสงค์ ให้มีที่จอดว่างเล็กน้อยตลอดเวลา

การตั้งราคาจอดรถแบบนี้โดยหลักการก็ดูเหมือนง่าย แต่ในความเป็นจริง demand ของรถที่จะเข้ามาจอดนั้นเปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของวัน รวมทั้งวันธรรมดากับเสาร์อาทิตย์ก็ไม่เหมือนกัน แต่สมัยนี้ที่เทคโนโลยีก้าวไปไกล ก็มีหลายเมืองที่นำเอาเทคโนโลยีมาช่วย เช่นติดเซนเซอร์ดูว่าถ้าตั้งราคาเท่านี้มีรถจอดกี่คัน ถ้ารถจอดเต็มแสดงว่าค่าจอดรถถูกไปก็ปรับขึ้น หรือมีรถมาจอดน้อยก็ปรับราคาให้ถูกลง เป็นต้น

เมื่อบนถนนมีรถจอดอยู่เสมอ ๆ แต่ไม่เต็ม ร้านค้าแถวนั้นก็สบายใจได้ว่าการเก็บค่าที่จอดรถไม่ได้ทำให้ลูกค้าลดลงไป ในทางกลับกัน การคิดค่าที่จอดรถทำให้คนจอดแค่แป๊บเดียวมากขึ้น ไม่จอดแช่ทั้งวัน จำนวนลูกค้าก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย (และในบางที่ก็เป็นข้อวิพากษ์ว่าทำให้ปริมาณรถเพิ่มขึ้น)

ตอนนี้เอาแค่ประเด็นเก็บค่าที่จอดรถบนถนนเพื่อลดปริมาณรถก่อน ยังไม่ได้แตะประเด็นความไม่เป็นธรรมของการจัดสรรพื้นที่สัญจรในเมืองระหว่างคนใช้รถ(มักเป็นชนชั้นกลางขึ้นไป) กับคนไม่ใช้รถ(มักเป็นผู้มีรายได้น้อย) เพราะพื้นที่สาธารณะนั้นอาจกลายเป็นทางเท้า ทางจักรยาน หรือเลนรถประจำทางก็ได้ ไว้มีโอกาสจะเรียบเรียงในตอนถัด ๆ ไป

อ้างอิง

  1. Shoup, D. C. (2005). The High Cost of Free Parking. American Planning Association.

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*