ทำไมกรุงเทพฯ รถติด: ตอนกรุงเทพฯ มีถนนไม่พอ

กรุงเทพฯ ไม่ว่าใครก็ต้องวิ่งออกถนนสายหลัก

จั่วหัวมาเช่นนี้ บางคนก็อาจจะจินตนาการถึงภาพถนนสุขุมวิทขยายกว้างสิบเลน แต่คำว่าถนนไม่พอในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงความกว้างถนนหลักเช่นนั้น แต่หมายความว่ากรุงเทพฯ มี”จำนวน”ถนนไม่พอต่างหาก

จากรายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการจัดทำมาตรฐานด้านผังเมืองของกรุงเทพมหานคร  2553 พบว่ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนทั้งหมดประมาณ 8% จากพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ควรมีพื้นที่ถนนเทียบกับพื้นที่เมืองประมาณ 20 – 25% แต่อย่างที่กล่าวไป วิธีแก้ไม่ใช่การเพิ่มเลนถนน หรือสร้างแต่ทางด่วนอย่างเดียว เราต้องมาดูรายละเอียดว่าถนนแบบไหนในกรุงเทพฯ ที่มีไม่พอ

ตามหลักวิศวกรรมจราจรแล้ว ถนนในเมืองมี 4 ลำดับชั้นคือ

  1. ถนนสายประธาน (major arterial)
  2. ถนนสายหลัก (minor arterial, sub-arterial)
  3. ถนนสายรอง (collector)
  4. ถนนสายย่อย (local)

ซึ่งประเภทถนนที่กรุงเทพฯ มีไม่พอคือถนนสายรอง ให้เห็นภาพง่าย ๆ คือถนนที่มีลำดับชั้นอยู่ระหว่างซอยกับถนนหลักเช่นถนนลาดพร้าวหรือถนนสุขุมวิท(ช่วงในเมือง) เราจึงเห็นซอยจำนวนมากวิ่งออกไปชนถนนสายหลักหรือถนนสายประธาน ทำให้คนที่จะออกจากบ้านแค่ไปซื้อของซอยถัดไปห่างแค่ 1 กิโลเมตรก็ต้องวิ่งออกถนนหลัก คนที่จะไปนอกเมืองก็ต้องวิ่งออกถนนหลักเส้นเดียวกัน

กรุงเทพฯ ไม่ว่าใครก็ต้องวิ่งออกถนนสายหลัก
กรุงเทพฯ ไม่ว่าใครก็ต้องวิ่งออกถนนสายหลักหรือถนนสายประธาน
เทียบกับนาโกย่าที่คนขับรถมีทางเลือกไปได้หลายถนน
เทียบกับนาโกย่า ญี่ปุ่นที่คนขับรถมีทางเลือกไปได้หลายถนน

การที่ถนนสายรองมีไม่พอยังทำให้กรุงเทพฯ มีปัญหาซอยลึกเข้าถึงลำบาก เป็นซอยตันบ้าง เกิดเป็นบล็อกขนาดใหญ่เรียกว่า superblock ใหญ่แค่ไหนลองเทียบกับเมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่นที่สเกลแผนที่เท่ากันดู

บล็อกขนาดใหญ่ (superblock) ในกรุงเทพฯ
ขนาดบล็อกระหว่างถนนหลักในกรุงเทพฯ
ขนาดบล็อกในเมืองนาโกย่า
ขนาดบล็อกระหว่างถนนหลักในนาโกย่า ญี่ปุ่น

ปัญหา superblock นี้ทำให้คนที่อยู่ใจกลางบล็อกเข้าถึงขนส่งมวลชนได้ยาก เอาแค่เข้าถึงรถเมล์ไม่ต้องรถไฟฟ้าก็ได้ จากรูปด้านบนก็จะเห็นว่าคนที่อยู่กลางบล็อกจะเดินไปขึ้นรถเมล์ที่ถนนเพชรบุรีนั้นไกลถึง 1 กิโลเมตร ในขณะที่คนกลางบล็อกในนาโกย่าเดินแค่ 200 เมตรก็ถึงป้ายรถเมล์แล้ว ถ้าไม่นับปัญหาเรื่องคุณภาพของรถเมล์ การที่คนกลางบล็อกเข้าถึงขนส่งมวลชนได้ยาก ก็เป็นแรงจูงใจให้คนต้องซื้อรถไว้ใช้

ถึงแม้คนในกรุงเทพฯ จะต้องพึ่งพิงการเดินทางในซอยมาก แต่ซอยทั้งหลายก็มีปัญหาเช่น แคบเกินไป มีคอขวดที่รถต้องรอสวนกัน วิ่ง ๆ ไปแล้วก็ตัน เป็นต้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรุงเทพฯ มัวแต่พัฒนาถนนใหญ่ แต่ไม่พัฒนาซอยเท่าที่ควร สมัยก่อนที่กรุงเทพฯ ยังเป็นเรือกสวนไร่นามีคลองเล็ก ๆ เชื่อมต่อถึงกัน พอเปลี่ยนมาเป็นการเดินทางทางบก ก็แค่ถมคลองเหล่านั้นให้กลายเป็นซอย แต่ไม่ได้คิดว่าซอยควรจะต้องกว้างเท่าไหร่รถถึงวิ่งสวนกันได้สะดวก

ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ นอกจากจำนวนถนนไม่พอแล้ว ก็ยังเกิดจากปัญหาเชิงกายภาพจากการออกแบบถนน และก็ยังมีอีกหลายปัจจัยมากมายซึ่งจะทยอยกล่าวถึงในตอนต่อ ๆ ไป

ที่มาภาพประกอบ: Google Maps

Be the first to comment

Leave a Reply

Your email address will not be published.


*