
“อะไรคือ kiss and ride?” ถ้าเรียก park and ride ว่าจอดแล้วจร kiss and ride ก็คงเป็นการ”มีคนมาส่งแล้วจร” คือให้แค่ kiss goodbye แล้วก็ลงรถไปขึ้นรถไฟฟ้าต่อ
นอกจากจะมีคนมาส่งแล้ว ก็ต้องมีคนมารับคนที่เพิ่งออกมาจากรถไฟฟ้า แล้วทั้งสองอย่างนี้ทำให้รถติดยังไง? หลายคนอาจจะคิดว่าหยุดรับส่งแค่แป๊บเดียวไม่เป็นไรหรอก แต่สำหรับสถานีที่มีคนขึ้นลงเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ คนต่อวัน ชะลอรถหยุดรถกันคันละ 10 วินาทีก็ส่งผลกระทบต่อการจราจรบนถนนแน่นอน
ทางแก้ก็คือ ควรจัดให้มีสถานที่รับส่งหน้าสถานีรถไฟเป็นสัดส่วน ไม่ยุ่งเกี่ยวกับพื้นที่ถนน ยิ่งสถานีใหญ่ยิ่งต้องทำให้รองรับปริมาณผู้โดยสารจำนวนมากตามไปด้วย ภาพด้านล่างเป็นที่รับส่งหน้าสถานีโตเกียวฝั่งมารุโนะอุจิในประเทศญี่ปุ่น (กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุง) ขอให้สังเกตความกว้างของลานเทียบกับสถานีและความกว้างถนนข้าง ๆ

ในลานรับส่งนี้ประกอบด้วยที่รับส่งสำหรับการเดินทางรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่รถเมล์ รถแท็กซี่ และรถยนต์ส่วนบุคคล แบ่งเป็นสัดส่วนกัน ภาพด้านล่างเป็นรายละเอียดลานรับส่งของสถานีโตเกียวฝั่งยะเอสึ

คนที่เดินทางมาหรือออกจากสถานีก็เดินทางต่อไม่เหมือนกัน บางคนใช้รถเมล์ บางคนใช้แท็กซี่ บางคนก็มีคนมารอรับ จุดที่อยากให้สังเกตคือจำนวนจุดหยุดและจอดสำหรับรถประเภทต่าง ๆ สถานีโตเกียวมีคนขึ้นลงรถไฟวันละประมาณ 4 แสนคน จัดที่ให้รถเมล์หยุดได้พร้อม ๆ กัน 13 คัน ให้คนขึ้นลงแท็กซี่ได้ทีละ 4 คัน แท็กซี่จอดรอได้ 50 คันแยกต่างหากจากจุดขึ้นลง แต่มีที่หยุดรับส่งสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลแค่ 7 คัน
ที่น่าสนใจคือ “มีที่ให้แค่ 7 คัน ถ้าทุกคันมาเพื่อรอรับคนแต่มาถึงก่อนเวลาแล้วที่จะพอเหรอ?”
คำตอบคือ “พอ เพราะนี่เป็นที่สำหรับหยุดรถ ไม่ใช่จอดรถ” กฎจราจรญี่ปุ่นแยกไว้ชัดเจนระหว่างการหยุดรถกับจอดรถดังนี้
หยุดรถ
1) หยุดเพื่อให้คนขึ้นลง
2) หยุดเพื่อขนของไม่เกิน 5 นาที
3) คนขับสามารถขับรถได้ทันที
จอดรถ
1) รถหยุดอยู่ต่อเนื่อง
– รอคนหรือรอสิ่งของ
– ขนของขึ้นลงเกิน 5 นาที
2) คนขับออกห่างจากรถ ไม่สามารถขับรถได้ทันที
นั่นคือถ้ารถมาจอดรอ ไม่มีการขึ้นลงของคนเมื่อไหร่ก็ถือว่าเป็นการจอดรถซึ่งผิดกฎจราจร มีสิทธิ์โดนใบสั่งทันที ที่กำหนดเช่นนี้ก็เพื่อที่จะได้ไม่มีใครมาครอบครองพื้นที่สาธารณะใจกลางเมืองเป็นเวลานาน ๆ คนที่ขับรถมารอรับถ้ามาถึงก่อนเวลาก็ต้องไปหาที่จอดรถที่อื่นก่อน (ซึ่งมักจะเสียเงิน) แต่ถ้าเป็นสถานีชานเมืองก็อาจให้จอดรอฟรีได้
กฎหมายนี้ยังมีความละเอียดซ่อนอยู่ สังเกตว่าถ้าเป็นการหยุดขนของจะได้ไม่เกิน 5 นาที แต่ถ้าหยุดเพื่อให้คนขึ้นลงกลับไม่มีกำหนดเวลาไว้ เป็นเพราะอะไร?
เพราะว่าอาจมีคนที่ต้องใช้เวลาขึ้นลงรถนาน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ใช้วีลแชร์ เป็นต้น ตราบใดที่ยังขึ้นลงรถไม่เสร็จก็ยังไม่ถือว่าผิดกฎ
สำหรับบางสถานี ก็จัดที่ขึ้นลงรถสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ เช่นสถานีชินคาวาซากิดังภาพด้านล่าง


ในภาพด้านบนก็มีอะไรให้สังเกตอีกแล้ว เมื่อพิจารณาดูว่าคนที่เดินทางด้วยรถแบบไหนได้ขึ้นลงใกล้ทางเข้าออกสถานีมากที่สุด ก็จะพบว่าการออกแบบนั้นอำนวยความสะดวกให้กับคนที่ใช้ขนส่งสาธารณะมากกว่า
เรื่องการจัดที่หยุดรับส่งคนหน้าสถานีรถไฟเหมือนเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็มีรายละเอียดมากมายให้คำนึงถึง เพื่อให้ทุกคนได้ kiss and ride กันตอนเช้า แล้วก็ ride and kiss กันตอนเย็นอย่างมีความสุข ไม่ต้องเจอรถติดนั่นเอง
ป.ล. คำถามแถมท้าย ทำไมจุดจอดรถเมล์ในสถานีชินคาวาซากิถึงเอียงแบบนั้น ไม่เหมือนกับจุดจอดรถแท็กซี่ คำตอบอยู่ที่นี่
อ้างอิง
ทำไมคนในญี่ปุ่นมักจอดรอรับคนที่สถานีรถไฟฟ้าได้ง่าย ไม่เกะกะ?
ที่มาภาพประกอบ
ลานรับส่งหน้าสถานีโตเกียว ด้านมารุโนะอุจิ https://www.jreast.co.jp/construction/station/
ลานรับส่งหน้าสถานีโตเกียว ด้านยะเอสึ https://www.jreast.co.jp/press/2013/20130701.pdf
ลานรับส่งหน้าสถานีชินคาวาซากิ 臨港バス อ้างถึงใน http://view.tokyo/?p=14047
ลานรับส่งหน้าสถานีชินคาวาซากิ http://view.tokyo/?p=14047
Leave a Reply