ในโอกาสที่รถไฟฟ้าบีทีเอสส่วนต่อขยายกำลังจะเปิดเพิ่มถึงสถานีเกษตรศาสตร์ คนที่บ้านอยู่แถวนั้นก็คงสะดวกสบายขึ้น สำหรับคนที่มีที่ทำงานอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้า จากเดิมที่อาจจะขับรถไปทำงาน ถ้าบ้านอยู่ใกล้สถานีก็อาจจะเดินออกไปขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานได้ แต่สำหรับคนที่บ้านอยู่ในซอยลึก การใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์หรือให้คนที่บ้านไปส่งที่สถานีรถไฟฟ้าหน้าบ้านก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
ถ้าให้คนที่บ้านออกมาส่งที่สถานี เราก็สามารถขึ้นรถไฟฟ้าไปทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว สำหรับคนที่ออกมาส่งก็ต้องขับรถกลับเข้าบ้าน ทำให้อยากรู้ว่าระยะทางมาส่งที่สถานีกับกลับเข้าบ้านต่างกันแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรุงเทพฯ ที่โครงข่ายถนนมีความพรุนต่ำ หรือมีความเป็น superblock สูง
การวิเคราะห์ครั้งนี้จึงเป็นการหาระยะทางจากบ้านที่อยู่ในซอยไปยังสถานีบีทีเอสในกรุงเทพฯ ที่ใกล้ที่สุด และหาระยะทางที่ใกล้ที่สุดจากบีทีเอสกลับบ้าน(จุดเริ่มต้น) โดยที่ระยะทางจากบ้านไปบีทีเอสไม่เกิน 4 กิโลเมตร หากเกินกว่านี้จะไม่นำมาแสดงผล
พูดในเชิงเทคนิคก็คือ จากจุดยอดใด ๆ บนถนนที่ไม่ใช่ motorway, trunk, primary, motorway_link, trunk_link และ primary_link หาเส้นทางที่สั้นที่สุดไปยังจุดยอดที่เป็นทางขึ้นรถไฟฟ้า โดยมี cutoff distance เท่ากับ 4 กิโลเมตร จากจุดยอดนี้คำนวณเส้นทางที่สั้นที่สุดกลับไปยังจุดยอดเริ่มต้น โดยคิดเฉพาะสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร
ผลการวิเคราะห์ได้ผลดังรูปด้านล่าง


จากภาพจะเห็นได้คร่าว ๆ ว่าขากลับนั้นมีระยะทางมากกว่าขาไป โดยพบว่าระยะทางไปยังบีทีเอสเฉลี่ยมีค่า 2.3 กิโลเมตร (ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าถ้าเกิน 4 กิโลเมตรจะไม่นำมาคำนวณ) และระยะทางจากบีทีเอสกลับจุดเริ่มต้นเฉลี่ยมีค่า 3.0 กิโลเมตร ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าโดยเฉลี่ยขากลับนั้นไกลกว่าขาไปส่งราว 700 เมตร
โดยขากลับที่ไกลที่สุดคือ 8.5 กิโลเมตร เป็นบ้านบนถนนกัลปพฤกษ์ไปยังสถานีบางหว้า (อย่าลืมว่าการวิเคราะห์ครั้งนี้มีเงื่อนไขว่าขาไปต้องไม่ไกลเกิน 4 กิโลเมตร ดังนั้นในความเป็นจริงอาจจะมีบ้านที่อยู่ห่างจากบีทีเอสมากกว่า 4 กิโลเมตร และอาจจะมีระยะทางขากลับมากกว่านี้ก็เป็นได้)

โดยไปส่งที่ Sky walk บริเวณคอนโดแอสปายสาทร-ราชพฤกษ์

สำหรับความแตกต่างของระยะทางขาไปกับขากลับที่มากที่สุดคือ 7.5 กิโลเมตร เป็นบ้านที่อยู่ในบนถนนกัลปพฤกษ์ หากไปส่งคนที่สถานีบางหว้า ขาไปใช้ระยะทาง 800 เมตร แต่ขากลับบ้านต้องวิ่งไกลถึง 8.3 กิโลเมตร (หากขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่ง การขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรกลับนั้นน่าดึงดูดกว่ามาก)


บ้านที่มีระยะทางขาไปกับขากลับแตกต่างกันมากที่สุด ขากลับ 8.3 กิโลเมตร จากการคำนวณผ่าน OSMnx (Google Maps แสดงระยะทาง 8.7 กิโลเมตร)
รายละเอียดระยะทางเฉลี่ยไปกลับสถานีบีทีเอส เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ระยะทางที่มากที่สุด และจำนวนจุดยอดที่อยู่ใกล้สถานีบีทีเอสนั้นมากที่สุด ดังแสดงในตารางด้านล่าง


การวิเคราะห์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโครงข่ายถนนของกรุงเทพฯ นั้นทำให้การเดินทางไปกลับมีระยะทางที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่มีระยะทางขากลับไกลกว่าขาไป เนื่องจากต้องไปกลับรถไกล ไม่มีซอยที่ทะลุกันอยู่ใกล้ ๆ ฯลฯ
หากกลับไปมองที่คำถามที่ว่า “ทำไมเราต้องไปส่งคนที่สถานีรถไฟฟ้า” ตั้งแต่ต้น ก็จะพบอีกมุมมองว่า ทางเท้าไม่น่าเดิน บ้านอยู่ในซอยลึก รถเมล์เข้าไม่ถึง วินก็ราคาแพงเทียบกับระยะทาง ถนนไม่เอื้อต่อการขี่จักรยานไปจอดที่สถานีรถไฟ ปัญหาความปลอดภัยในเวลากลางคืน เป็นต้น
ถ้ากรุงเทพฯ ถูกพัฒนาให้น่าเดินและเอื้อต่อการเดินทางด้วยจักรยานมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงเพิ่มระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) ก็จะช่วยเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้กับชาวกทม. มากขึ้น
ข้อจำกัดของการวิเคราะห์ครั้งนี้
1.การใช้ osmnx สร้างโครงข่ายถนนเพื่อวิเคราะห์นั้น นอกจากความถูกต้องของข้อมูลบน Openstreetmap แล้ว ข้อจำกัดที่สำคัญคือจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของการเดินทาง (origin, destination) บนกราฟอาจคลาดเคลื่อนไปจากตำแหน่งจริงได้มาก เนื่องจากใน osmnx ทุกอย่างจะถูกคำนวณจากจุดยอดเท่านั้น
เพื่อให้เห็นภาพลองพิจารณารูปประกอบด้านล่าง หากเราต้องการหาเส้นทางที่สั้นที่สุดจากจุด A ไปยังจุด B หากใช้สายตาดูกันง่าย ๆ ก็จะได้ระยะทางตามเส้นประสีแดง
แต่ใน osmnx เมื่อสร้างกราฟโครงข่ายถนนเสร็จแล้ว การคำนวณระยะทางจากจุด A ไปยังจุด B ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก A กับ B ไม่ได้อยู่บนจุดยอด ในการคำนวณขั้นตอนแรกจะ project จุด A และ B ไปยังจุดยอดที่ใกล้ที่สุด คือ A’ และ B’ ตามลำดับ แล้วจึงหาเส้นทางที่สั้นที่สุดเพื่อนำมาคำนวณระยะทาง ซึ่งระยะทางจาก A’ ไป B’ ก็จะมีความแตกต่างจากระยะทางบนแผนที่จริง A ไป B
การ project จุด X ใด ๆ ไปยังจุดยอดที่ใกล้ที่สุด X’ หากโครงข่ายถนนมีความพรุนต่ำ เช่นเป็น superblock แบบกรุงเทพฯ จะมีความคลาดเคลื่อนได้มากกว่ากรณีที่โครงข่ายมีความพรุนสูง เปรียบเทียบรูปซ้ายมีศูนย์กลางของกราฟที่สถานีราชดำริ กรุงเทพฯ ด้านขวามีศูนย์กลางที่สถานีชิบูย่า กรุงโตเกียว ในสเกลที่เท่ากัน พบว่าโครงข่ายถนนของโตเกียวมีความพรุนมากกว่ากรุงเทพฯ มาก
2. ในการคำนวณพบคู่ไปกลับที่มีระยะทางเท่ากัน ซึ่งในความเป็นจริงหากไปส่งคนด้วยรถยนต์จะไม่สามารถกลับรถที่ปากซอยเช่นนี้ได้ จึงเอาคู่ไปกลับที่มีระยะทางเช่นนี้ออกจากการคำนวณระยะทางเฉลี่ย

Leave a Reply