ทางข้ามเพื่อทุกคน

ทางข้ามคือจุดตัดของกระแสรถยนต์กับคนเดินเท้า นอกจากออกแบบทางข้ามเพื่อความปลอดภัยแล้ว ทางข้ามเพื่อทุกคนใช้งานได้สะดวกเป็นอย่างไร

ทางข้ามพื้นราบ

ความชันของทางลาด ระหว่างทางเท้ากับถนนบริเวณทางข้าม

ความชันที่ต่างกันมีผลต่อผู้ใช้วีลแชร์ ความชันน้อยผู้ใช้วีลแชร์สามารถเข็นขึ้นหรือลงด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าความชันมากขึ้นจำเป็นต้องมีคนอื่นช่วยเข็น หรือถ้าชันมากเกินไปจะเป็นอันตราย ไม่สามารถใช้งานได้เลย

ความชันนิยมบอกเป็นอัตราส่วนเช่น 1:20 หมายถึง สัดส่วนการเคลื่อนที่แนวตั้งต่อแนวราบ เราจะเคลื่อนที่แนวตั้ง 1 เซนติเมตรเมื่อเราเดินไปในแนวราบ 20 เซนติเมตร

ความชัน 1:20 1:12
ตัวเลขด้านหลัง (ในตัวอย่างคือ 20) ยิ่งมาก แสดงว่าความชันน้อย (เพราะต้องเดินตั้งไกลกว่าจะขึ้นในแนวตั้งได้ 1 เซนติเมตร)
ในขณะที่ตัวเลขด้านหลังน้อย (ในตัวอย่างคือ 12) แสดงว่าชันมาก (เดินไปแค่นิดเดียวก็ขึ้นในแนวตั้งแล้ว)

ความชัน 1:12 ชันกว่า 1:20

ความชัน ความสามารถในการใช้ทางลาดของผู้ใช้วีลแชร์1
1:20 – 1:12 สามารถช่วยเหลือตนเองได้
1:10 จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเข็นวีลแชร์
> 1:10 ก่อให้เกิดอันตรายได้

ในญี่ปุ่น กำหนดให้ทางลาดมีความชันน้อยกว่า 1:20 (ถ้าไม่ได้จริง ๆ อนุโลมให้เป็น 1:12.5)

จากถนนสู่ทางเท้าไม่ควรจะเป็นทางลาดทันที แต่ควรมีพื้นที่ราบยาว 1.5 เมตรสำหรับผู้ใช้เก้าอี้เข็นหยุดรอสัญญาณไฟคนข้ามได้โดยไม่ลื่นไหล หรือกลับตัวได้สะดวก จากนั้นจึงค่อยเป็นทางลาดขึ้นไปยังระดับความสูงทางเท้านั้น ๆ

ความชันทางลาด มาตรฐานทางเท้าส่วนที่ติดกับถนนในญี่ปุ่น

ความสูงขอบทางเท้ากับถนน

ผู้ใช้วีลแชร์ คนเข็นรถเข็นเด็ก ย่อมอยากได้ขอบทางเท้าที่เรียบสนิทต่อกับถนนบริเวณทางข้าม แต่ความเรียบเกินไปนั้นทำให้ผู้พิการทางสายตาแยกแยะไม่ได้ว่าตอนนี้กำลังอยู่บนถนนหรืออยู่บนทางเท้า

ที่ญี่ปุ่นกำหนดมาตรฐานความสูงระหว่างขอบทางเท้าและถนนบริเวณทางข้ามไว้ที่ 2 เซนติเมตร (1 เซนติเมตรในบางพื้นที่) ซึ่งต่างกันเพียงพอให้ผู้พิการทางสายตารับรู้ได้ด้วยไม้เท้าขาว

ความสูงขอบทางเท้ากับถนนบริเวณทางข้าม 2 เซนติเมตร

ผิวต่างสัมผัสนำทางผู้พิการทางสายตา (แบบเส้นนูน)

ปูผิวต่างสัมผัสนำทางให้ชี้ทิศที่ต้องเดินข้ามถนน เพื่อให้ผู้พิการทางสายตารู้ทิศที่ต้องเดินเพื่อข้ามไปอีกฝั่ง

ผิวต่างสัมผัสแบบนำทาง ชี้ทิศที่ต้องเดินข้ามถนน

ถ้าทางม้าลายนั้นมีผิวต่างสัมผัสนำทางด้วย (escort zone) บล็อกสีเหลืองและบล็อกนำทางบนทางม้าลายต้องอยู่ในแนวทางเดินเดียวกัน

ผิวต่างสัมผัสนำทางบนทางม้าลาย

ผิวต่างสัมผัสเตือนผู้พิการทางสายตา (แบบปุ่มกลม)

ประเทศญี่ปุ่นแนะนำให้ปูผิวต่างสัมผัสแบบเตือนให้ห่างจากทางข้ามประมาณ 30 เซนติเมตร

ผิวต่างสัมผัสแบบเตือนห่างจากถนน 30 เซนติเมตรบริเวณทางข้าม

ปูผิวต่างสัมผัสแบบเตือนบริเวณเกาะกลางถนนด้วย

ผิวต่างสัมผัสแบบเตือนบริเวณเกาะกลาง

เสียงบอกสัญญาณคนข้าม

เมื่อสัญญาณไฟตุ๊กตาคนข้ามเป็นสีเขียว มีเสียงบอกเพื่อให้ผู้พิการทางสายตารู้ว่าข้ามได้แล้ว

ในประเทศญี่ปุ่นบางแห่ง เสียงยังบอกรายละเอียดด้วยว่าเป็นของทางข้ามทิศไหน เพื่อให้ผู้พิการทางสายตาแยกแยะได้ว่าเป็นสัญญาณข้ามด้านที่ตนเองยืนรออยู่หรือไม่ โดยเสียงดังพิโยะพิโยะ บอกสัญญาณคนข้ามทิศเหนือใต้ และ คักคู เป็นเสียงบอกสัญญาณคนข้ามทิศตะวันออกตะวันตก

เสียงบอกสัญญาณคนข้ามทิศเหนือใต้ ตะวันออกตะวันตกแตกต่างกัน

ทางข้ามต่างระดับ (สะพานลอย อุโมงค์)

ขั้นบันไดนั้นเป็นอุปสรรคต่อผู้ใช้วีลแชร์ ผู้ใช้รถเข็นเด็ก รวมถึงผู้สูงอายุที่มีกำลังวังชาถดถอย และผู้ใช้จักรยาน(กรณีอนุญาตให้ขี่จักรยานบนทางเท้า) ทางข้ามต่างระดับที่รองรับการใช้งานของทุกคน จึงต้องมีทางลาดที่มีความชันเหมาะสม หรือลิฟต์เพื่อให้ผู้ใช้วีลแชร์ ฯลฯ ข้ามถนนได้

ถ้าแยกนั้นออกแบบให้ไม่มีทางข้ามพื้นราบเลย ควรติดตั้งลิฟต์ทุกขาของสะพานลอย

สะพานลอยคนข้ามพร้อมลิฟต์
By nakaogumi3.exblog.jp
By nakaogumi3.exblog.jp
By nakaogumi3.exblog.jp
อ้างอิงสะพานลอยมีลิฟต์
  1. คู่มือการจัดสภาพแวดล้อมทีÉเหมาะสมและปลอดภัยสําหรับผู้สูงอายุ เข้าถึงเมื่อ 28 พ.ค. 59

เนื้อหาที่เกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นอ้างอิงจากมองญี่ปุ่น รูปดัดแปลงโดยได้รับอนุญาต