ป้ายรถเมล์อยู่ตรงไหนของสี่แยก เรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กแต่แท้จริงแล้วมีเหตุผลเบื้องหลังตำแหน่งป้ายรถเมล์แต่ละแบบ
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจการเข้าป้ายของรถเมล์ 2 แบบ
1. จุดจอดบนถนน (in-lane stop)
คือจุดจอดที่อยู่บนเลนที่รถเมล์วิ่ง จุดจอดบนถนนมีข้อดีทำให้รถเมล์ไม่ต้องเสียเวลา 2 ต่อ คือ
๑. ไม่เสียเวลาเข้าซ้ายเพื่อหยุดที่ป้าย
๒. ไม่เสียเวลาขอออกขวาเพื่อกลับสู่เส้นทาง
หลายคนมักคิดว่าจุดจอดบนถนนทำให้รถที่ตามหลังเสียเวลาต้องหยุดรอคนขึ้นลงรถเมล์ แต่มองอีกมุม จุดจอดแบบนี้ให้ความสำคัญกับ“ผู้โดยสารที่ยังอยู่บนรถเมล์”ไปถึงป้ายถัดไปได้เร็วขึ้น
2. จุดจอดเว้า (pull-out stop)
คือจุดจอดที่ไม่กีดขวางกระแสจราจร รถเมล์ต้องเลี้ยวเบนจากเลนที่วิ่งอยู่เข้าซ้ายเพื่อจอดป้าย เมื่อรับส่งผู้โดยสารเสร็จแล้วต้องขอทางออกขวากลับเข้าสู่เลนรถวิ่ง
เมื่อเรารู้จักลักษณะทางกายภาพของจุดจอดแล้ว มาดูกันว่าเมื่อเอาจุดจอดเหล่านี้ไปวางที่ตำแหน่งต่าง ๆ ของสี่แยก
มีข้อดีหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง
1. ป้ายรถเมล์ที่ตำแหน่งเลยแยก จุดจอดบนถนน (far-side, in-lane stop)
ป้ายรถเมล์แบบนี้ออกแบบเพื่อให้ความสำคัญสูงสุดกับรถประจำทาง รถเมล์วิ่งเป็นเส้นตรงไม่ต้องเลี้ยวเพื่อเข้าป้าย และกลับเข้าสู่เส้นทางวิ่งได้ทันที ไม่ต้องรอให้รถข้างหลังให้ทางเพื่อออกขวา
ข้อดี
- รถเมล์ได้วิ่งผ่านสี่แยกก่อนหยุดที่ป้าย และเมื่อหยุดรับส่งผู้โดยสารเสร็จสามารถวิ่งต่อไปรอไฟเขียวแยกถัดไปได้ทันที
สังเกตแนวคิดนี้ให้ดี ๆ แนวคิดนี้ไม่ได้คิดว่ารถเมล์จอดป้ายทำให้รถติด จึงควรวางป้ายรถเมล์ก่อนแยกเพื่อให้รถเมล์ติดไฟแดงพร้อม ๆ กับผู้โดยสารขึ้นลง จะได้ประหยัดเวลา แต่แนวคิดนี้คิดว่าควรให้รถเมล์ได้ไฟเขียวผ่านแยกนั้น ๆ ไปก่อนแล้วค่อยจอดป้าย เมื่อรับส่งผู้โดยสารเสร็จก็วิ่งต่อไปรอไฟเขียวแยกถัดไปทันที และจะดียิ่งขึ้นถ้ามีระบบตรวจจับรถเมล์ที่แยกถัดไปเพื่อเปิดไฟเขียวให้รถเมล์วิ่งต่อไปโดยไม่ต้องติดไฟแดง
ข้อควรระวัง
- บนถนนเลนเดียว เมื่อรถเมล์หยุดที่ป้ายอาจทำให้รถยนต์ที่ตามมาข้างหลังหยุดบนทางม้าลาย หรือหางแถวล้นออกไปบริเวณสี่แยก
แก้ได้โดยใช้สัญญาณไฟจราจรแบบ early red phase คือเปลี่ยนเป็นไฟแดงทันทีหลังจากรถเมล์ผ่านสี่แยกมาแล้ว เพื่อให้รถยนต์ด้านหลังติดไฟแดงที่แยกต่อไป
2. ป้ายรถเมล์ที่ตำแหน่งเลยแยก จุดจอดเว้า (far-side, pull-out stop)
ข้อดี
- แบบจุดจอดเว้าที่อยู่ตำแหน่งเลยแยก ช่วยให้รถเมล์ไม่ต้องหักเลี้ยวกระทันหันเพื่อเข้าป้าย แต่สามารถเริ่มเลี้ยวขณะวิ่งผ่านแยกได้เลย ช่วยลดขนาดความยาวป้ายรถเมล์เมื่อเทียบกับป้ายรถเมล์จุดจอดเว้าที่ตำแหน่งอื่น
- อาจใช้ป้ายแบบนี้สลับกับแบบจุดจอดบนถนน เพื่อให้รถยนต์มีจังหวะแซงรถเมล์ขณะหยุดได้บ้าง
- จุดจอดเว้าอาจใช้ร่วมกับจุดจอดบนถนน โดยให้รถเมล์ธรรมดาใช้จุดจอดเว้า ส่วนรถด่วนแซงไปหยุดที่จุดจอดบนถนน
- อาจใช้ร่วมกับระบบ queue jump เพื่อให้รถเมล์แซงไปหยุดรอสัญญาณไฟหน้ารถยนต์อื่น ๆ ที่แยกถัดไป
ข้อควรระวัง
- ถนนที่มีปริมาณรถมากจนทำให้รถเมล์กลับเข้าไปร่วมเลนได้ยาก คนขับรถเมล์อาจไม่อยากจอดชิดป้าย แต่อาจจอดคร่อมเลนเพื่อให้ออกขวาได้ง่ายขึ้น
3. ป้ายรถเมล์ที่ตำแหน่งก่อนแยก จุดจอดบนถนน (near-side, in-lane stop)
ข้อดี
- กรณีที่มีรถเลี้ยวเข้าสู่ถนนที่รถเมล์วิ่งเป็นจำนวนมาก ป้ายรถเมล์ตำแหน่งก่อนแยกช่วยให้รถเลี้ยวเข้าสู่ถนนได้สะดวกเนื่องจากรถเมล์ไม่ได้หยุดบังตรงนั้น
- บนถนนสองเลนสวน(มีเพียงข้างละหนึ่งเลน) ป้ายรถเมล์แบบนี้ช่วยป้องกันไม่ให้รถอื่นมาแซงเพื่อหยุดรอไฟแดงหน้ารถเมล์ได้ โดยต้องวางป้ายรถเมล์ให้ใกล้แยกมากเพียงพอ
ข้อควรระวัง
- วางป้ายรถเมล์ให้ใกล้แยกมากเพียงพอบนถนนสองเลนสวน(มีเพียงข้างละหนึ่งเลน) เพื่อกันไม่ให้รถอื่นมาแซงเพื่อหยุดรอไฟแดงหน้ารถเมล์ได้
4. ป้ายรถเมล์ที่ตำแหน่งก่อนแยก จุดจอดเว้า (near-side, pull-out stop)
ป้ายรถเมล์แบบนี้เป็นแบบที่ให้ความสำคัญกับการจราจรรถยนต์มากที่สุด ให้ประโยชน์น้อยกับระบบขนส่งมวลชน
ข้อดี
- สามารถใช้เป็น queue jumpe lane ร่วมกับระบบสัญญาณไฟสำหรับรถเมล์ อาจเหมาะกับแยกที่มีปริมาณการจราจรมาก
ข้อควรระวัง
- ป้ายรถเมล์อาจถูกรถรอเลี้ยวซ้ายใช้เวลาไม่มีรถเมล์ที่ป้าย ควรวางป้ายรถเมล์ใกล้แยกเพียงพอที่จะกันไม่ให้รถอื่นเข้ามาใช้เพื่อเลี้ยวซ้าย
- รถเมล์อาจออกขวากลับเข้าสู่เส้นทางวิ่งได้ยาก อาจใช้ร่วมกับการควบคุมสัญญาณไฟแบบ upstream early red phase ช่วยแก้ปัญหานี้
5. ป้ายรถเมล์กลางบล็อก จุดจอดบนถนน (mid-block, in-lane stop)
ข้อดี
- ใช้พื้นที่สั้นกว่าแบบถัดไป (ป้ายรถเมล์กลางบล็อก จุดจอดเว้า)
ข้อควรระวัง
- ควรทำทางข้ามสำหรับคนเดินเท้าหลังป้ายรถเมล์
6. ป้ายรถเมล์กลางบล็อก จุดจอดเว้า (mid-block, pull-out stop)
ข้อดี
- อาจเหมาะสำหรับจุดเชื่อมต่อ (transfer) ที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
ข้อควรระวัง
- ออกแบบให้ป้ายรถเมล์ยาวเพียงพอที่รถเมล์จะชิดซ้ายเข้าและเบนออกขวาได้สะดวก