รถโดยสารประจำทาง (transit bus) กับรถโดยสารระหว่างจังหวัด (intercity bus, highway bus) ต่างกันยังไง?
รถโดยสารประจำทางหรือที่เราคุ้นในชื่อรถเมล์ ต่างจากรถทัวร์วิ่งระหว่างจังหวัดหลัก ๆ ดังนี้
-
ระยะทางการวิ่ง(แน่นอนอยู่แล้ว)
รถเมล์วิ่งในเมืองหรือวิ่งระหว่างเมืองระยะใกล้ ๆ ส่วนรถบัสระหว่างเมืองนั้นวิ่งกันทีเป็นชั่วโมง ๆ
-
จำนวนประตู
เพราะรถเมล์จอดป้ายเยอะกว่า จึงมักจะมีมากกว่า 1 ประตู เพื่อให้ผู้โดยสารขึ้นลงได้รวดเร็ว
-
ชานต่ำหรือชานสูง
รถเมล์นอกจากจะประตูเยอะแล้ว รถเมล์ชานต่ำยังช่วยให้ผู้โดยสารขึ้นลงรถได้อย่างรวดเร็ว ลดความล่าช้าที่ป้ายรถเมล์ ผู้โดยสารที่ใช้วีลแชร์ รถเข็นเด็ก ผู้สูงอายุก็ยังขึ้นลงรถได้ง่ายกว่ารถชานสูงอีกด้วย
-
ที่เก็บกระเป๋าเดินทาง
รถเมล์มักไม่มีที่สำหรับเก็บกระเป๋าเดินทางหรือสัมภาระขนาดใหญ่โดยเฉพาะ ข้อนี้ทำให้บางทีเราจะเห็นรถลักษณ์รถทัวร์ที่มีที่เก็บของใต้ท้องถูกนำมาใช้เป็นรถเมล์สายที่วิ่งเข้าหรือออกจากสนามบิน เพราะผู้โดยสารมักมีกระเป๋าเดินทางใบใหญ่กัน
-
ลักษณะเบาะที่นั่ง
ที่นั่งรถเมล์มักไม่มีหมอนพิงศีรษะ
ในรถทัวร์ที่นั่งจะสูงรองรับศีรษะ ยกเว้นเบาะเสริมแถวกลาง
-
ยืนหรือนั่ง?
กฎหมายในประเทศส่วนมากอนุญาตให้ผู้โดยสารยืนโดยสารได้บนรถเมล์ แต่ไม่ใช่บนรถทัวร์ (อย่างเช่นกฎหมายในประเทศญี่ปุ่น) ที่เป็นอย่างนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร อันเนื่องมาจากเหตุผลในข้อถัดไป
-
ความเร็วสูงสุดหรือประเภทถนนที่รถวิ่งได้ขณะมีผู้โดยสาร
ตัวอย่างในญี่ปุ่น
รถเมล์วิ่งได้เฉพาะบนถนนธรรมดาไม่ใช่ทางด่วน จำกัดความเร็วสูงสุดที่ 60 km/h ผู้โดยสารยืนบนรถเมล์ได้
รถบัสวิ่งระหว่างเมือง วิ่งบนมอเตอร์เวย์(ทางด่วนระหว่างเมือง)ได้ จำกัดความเร็ว 100 km/h และกฎหมายกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนต้องนั่งคาดเข็มขัด
รถเมล์ที่มีผู้โดยสารยืนได้ไม่ควรวิ่งบนถนนที่ใช้ความเร็วเกิน 60 km/h กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลักษณะถนนที่อนุญาตให้รถโดยสารแต่ละประเภทวิ่งได้จึงควรได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกัน เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารนั่นเอง