Universal Design (Inclusive Design) หรือการออกแบบเพื่อทุกคน, อารยสถาปัตย์ เป็นแนวคิดการออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งของที่คำนึงถึงการใช้งานครอบคลุมสำหรับทุกคนใช้งานได้อย่างสะดวก ปลอดภัย โดยไม่ต้องดัดแปลงพิเศษหรือเฉพาะเจาะจงเพื่อบุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทุกสภาพร่างกายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเสมอภาคกัน การออกแบบเพื่อทุกคนนี้ยังช่วยไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติทางอ้อมอีกด้วย
เราคงรู้จักคำว่าการเลือกปฏิบัติ ซึ่งคือการปฏิบัติที่แตกต่างกัน การกีดกันที่มีพื้นฐานมาจากเรื่องเพศ ผิว เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ความยากดีมีจน ฯลฯ ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย เช่นการปฏิเสธคนต่างสัญชาติเข้าทำงาน การตั้งราคาสินค้าหรือบริการที่แตกต่างสำหรับคนสัญชาติอื่น ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางตรง
ในขณะที่การเลือกปฏิบัติทางอ้อมนั้นสังเกตได้ยากกว่า เพราะในการปฏิบัติอย่างเป็นกลางแก่ทุกคน ไม่กีดกัน โดยอาจไม่มีเจตนากลั่นแกล้งนั้น ถ้าผลของการกระทำทำให้คนบางประเภทเสียโอกาสหรือกระทบต่อสิทธิประโยชน์ ก็อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางอ้อมได้ เช่น ทางเข้าอาคารที่เป็นขั้นบันได ในขณะที่คนส่วนใหญ่ในสังคมสามารถเดินขึ้นลงบันไดได้ ตัวบันไดนั้นทำให้ผู้ใช้เก้าอี้เข็นเสียโอกาสที่จะเข้าออกอาคารด้วยตัวเอง ก็อาจถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางอ้อม
การออกแบบเพื่อทุกคนจึงคำนึงถึงคนหลากหลายประเภทในสังคม คิดว่าทำอย่างไรคนประเภทต่าง ๆ จึงจะมีโอกาสใช้ได้อย่างเท่าเทียมกัน เช่น คนสูงอายุ คนป่วย สตรีตั้งครรภ์ คนเข็นรถเข็นเด็ก คนพิการประเภทต่าง ๆ ตาบอด หูหนวก เป็นใบ้ แขนขาร่างกายพิการ คนพิการทางปัญญา ทางจิต คนที่อ่านหนังสือไม่ออก ฯลฯ
การออกแบบเพื่อทุกคน เน้นความทัดเทียมให้ทุกคนในสังคมสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบอย่างเดียวกันได้ ช่วยลดความแปลกแยก แตกต่างของบุคคลในสังคม และใช้ศักยภาพของตนเองกระทำการต่าง ๆ เพื่อสังคมต่อไปได้
หลักการของ Universal Design
- เสมอภาค
ทุกคนใช้งานแบบเดียวกัน ทัดเทียมกัน ลดความแปลกแยก แตกต่างของบุคคล เช่น เคาน์เตอร์รับเรื่องสองระดับ สำหรับทั้งคนส่วนใหญ่และผู้ใช้เก้าอี้เข็นใช้งานได้สะดวก ทางขึ้นชั้นสองที่มีทั้งบันได บันไดเลื่อน ลิฟต์ ให้ผู้ใช้เลือกใช้ตามที่เหมาะสม
- ยืดหยุ่น
ใช้งานได้ทั้งผู้ที่ถนัดซ้ายและขวา หรือปรับความสูงต่ำได้ - ใช้ง่ายเข้าใจง่าย
เช่นขวดแชมพูจากญี่ปุ่นทุกขวดจะมีรอยนูนเพื่อให้แตกต่างจากขวดครีมนวด ผู้ใช้สามารถแยกแยะได้โดยไม่ต้องลืมตาดูระหว่างอาบน้ำ
- ข้อมูลที่จำเป็นชัดเจน
ไม่มากไปจนทำให้สับสนหรือเสียเวลา ไม่น้อยไปจนใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เช่นป้ายบอกว่าห้องน้ำนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้าง - ทนต่อการใช้งานที่ผิดพลาด
มีระบบป้องกันอันตรายหากมีการใช้ผิดพลาด เช่นไมโครเวฟที่หยุดทำงานอัตโนมัติเมื่อเปิดประตูตู้ ฝารองนั่งชักโครกที่น้ำฉีดจะหยุดอัตโนมัติเมื่อลุกออกมา - ทุ่นแรงกาย
ไม่ต้องออกแรงมาก เช่น ที่เปิดก๊อกน้ำหรือแบบยกขึ้นยกลงหรือเลื่อนด้านข้าง, ลูกบิดประตูแบบก้านโยก ผู้ใช้ไม่ต้องใช้มือกำรอบลูกบิดแล้วบิด แต่ใช้มือ ท่อนแขน หรือศอกกดคันโยกเพื่อเปิดประตู - ขนาดและพื้นที่ที่เหมาะสม
เช่นขนาดของห้องน้ำที่เหมาะสมต่อเก้าอี้เข็น มีพื้นที่เพียงพอสำหรับหมุนกลับตัวในห้องน้ำ หรือเครื่องขายบัตรโดยสารที่รับเหรียญได้ทีละมาก ๆ
เนื้อหาและรูปภาพดัดแปลงโดยได้รับอนุญาตจาก มองญี่ปุ่น